ผู้ชมทั้งหมด 495
ก.พลังงาน พร้อมหนุนติดตั้งโซลาร์ทุ่นลอยน้ำเกาะหมากน้อย 400 กิโลวัตต์ จ.พังงา ช่วยกว่า 360 ครัวเรือน ภายในปี 68 ให้มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชม.
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (Solar Floating) บนเกาะหมากน้อย ต.เกาะปันหยี จ.พังงา ว่า ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังคงมีบางพื้นที่ที่ไฟฟ้าสายส่งยังเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะบนเกาะต่าง ๆ ชุมชนบ้านเกาะหมากน้อย เป็นอีกพื้นที่ที่ไฟฟ้าสายส่งยังเข้าไม่ถึง ถึงแม้จะอยู่ห่างจากชายฝั่งไม่มากนัก แต่ยังเป็นพื้นที่ขาดแคลนพลังงาน 30 บาท บ้านเกาะหมากน้อยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ กว่า 360 ครัวเรือน ต้องพึ่งตนเองด้วยการใช้พลังงานทดแทนแบบผสมผสาน
ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าจาก 3 แหล่ง คือ 1. ระบบ Micro-Grid ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (Solar Floating) สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน 2. ระบบโซล่าโฮม ที่ชุมชนลงทุนติดตั้งเอง และระบบโซล่าโฮมแบบเติมเงินที่เอกชนลงทุนผ่านกลุ่มบริหารจัดการโดยชุมชนนำร่อง 10 ครัวเรือน 3. ระบบผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟฟ้าน้ำมันดีเซลของเอกชน ซึ่งระบบนี้มีเวลาบริการจำกัดเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันระหว่าง 18.30 – 22.30 น. ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และไม่ครอบคลุมทุกครัวเรือน อีกทั้งไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่สาธารณะและถนน ทำให้ไม่มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานส่วนราชการบนเกาะที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (Solar Floating) บนเกาะหมากน้อย ต.เกาะปันหยี จ.พังงา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 วงเงิน 21 ล้านบาท ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Floating) ขนาดกำลังติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 200 กิโลวัตต์ นั้นเป็นโครงการระยะแรก โดยได้มีการติดตั้งทุ่นลอยสำหรับรองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ติดตั้งเครื่องควบคุมการประจุแบตเตอรี่อินเวอร์เตอร์ไฟฟ้าขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 200 กิโลวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเทียม) ขนาดความจุไม่น้อยกว่า300 กิโลวัตต์–ชั่วโมง (kWh) พร้อมก่อสร้างโรงคลุมและติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน ระยะทาง 2,000 เมตร มีการผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 89,403 kWh (ข้อมูล ณ มีนาคม 2567) ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 33 ครัวเรือน และมีไฟฟ้าใช้24 ชั่วโมง เสียค่าไฟฟ้า 600 – 1,000 บาท/เดือน
“เกาะหมากน้อย เป็นเกาะที่มีพื้นที่รวม 9,500 ไร่ เฉพาะพื้นที่เกาะ 1,200 ไร่ มีประชากร 1,422 คน 358 ครัวเรือนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ปลูกยาง มะพร้าว ทำประมง ค้าขาย ช่างจักรยานยนต์ และเรือมีโรงเรียน1 แห่งและรพ.สต.1 แห่ง โดยโครงการฯ จะสามารถให้บริการครอบคลุมทั้งเกาะได้นั้น จะต้องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าขนาด 400 kW แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาด 1,200 kWh และสายส่งทั้งสิ้น 9.5 กิโลเมตรซึ่งจะต้องดำเนินการของบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมในระยะต่อไป แต่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าในชุมชน แต่เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่ต้องการใช้ไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมทุกครัวเรือน กระทรวงพลังงานจะพยายามติดตามและประสานเรื่องงบประมาณผ่านกลไกกองทุนอนุรักษ์พลังงานหรือกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้ทุกครัวเรือนบนเกาะมีไฟฟ้าใช้ ทั้งในส่วนของโรงเรียน โรงพยาบาลส่วนตำบล และครัวเรือนทั่วไป ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งและยั่งยืน”นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ การติดตั้งโซล่าแบบทุ่นลอยน้ำเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกำลังผลิตของแผ่นโซลาร์เซลล์ เพราะน้ำสามารถช่วยระบายความร้อนของระบบที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตได้ 5-20% จากความเย็นของน้ำใต้แผ่น (Cooling Effect) เมื่อเทียบกับการติดตั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มบนดินและโครงการโซลาร์บนหลังคาทั่วไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่และสภาพอากาศ รวมไปถึงทุ่นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่คลุมอยู่บนผิวน้ำยังช่วยลดการระเหยของน้ำที่กักเก็บไว้ใช้อีกด้วย อีกทั้งการใช้โซลาร์เซลล์ทดแทนน้ำมันดีเซลก็ช่วยลดมลภาวะด้านอากาศบนเกาะได้อีกด้วย
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ที่เกาะหมากน้อยทางกระทรวงพลังงานพร้อมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องครบ 400 กิโลวัตต์ ซึ่งแบบออกเป็น 4 ระยะ โดยโครงระยะที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งหากสามารถดำเนินโครงการครบทั้งหมด 4 ระยะจะช่วยให้ประชาชนบนเกาะหมากมีไฟฟ้าใช้ครบทั้งหมดกว่า 360 ครัวเรือนตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยให้เกิดการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
นายดำรง สินโต นายกองค์การบริหารส่วนตําบลเกาะปันหยี กล่าวว่า เกาะหมากน้อย เป็นหนึ่งในหมู่บ้านของตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ห่างไกลอยู่นอกแนวสายส่งไฟฟ้า ปัจจุบันไฟฟ้าที่ผลิตได้จะมาจากการใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นไฟฟ้าเป็นหลัก ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงตกหน่วยละ 20-25 บาท อย่างไรก็ดีจากการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ในระยะแรก ที่จัดสรรงบมาให้ราว 21 ล้านบาท เพื่อมาติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ขนาด200 กิโลวัตต์ ป้อนไฟฟ้าได้ประมาณ 33 ครัวเรือน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงมาเหลือ 10 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้จากผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นและเพื่อให้บริการประชาชน ทางอบต.เกาะปันหยี จึงได้เสนอของบจากทางกองทุนฯ เพิ่มเติมอีกราว 40 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำเพิ่มขึ้นอีก 200 กิโลวัตต์ รวมเป็นการติดตั้งทั้งหมด400 กิโลวัตต์ ซึ่งจะครอบคลุมความต้องการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนบนเกาะหมากน้อยได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นไฟ ซึ่งต้องใช้น้ำมันมาปั่นไฟฟ้าเดือนละประมาณ 1,500 ลิตรอีกต่อไป
อนึ่งโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์นั่นแบ่งออกเป็น 4 ระยะ จำนวนการติดตั้งรวม 400 กิโลวัตต์ กรอบวงเงินงบประมาณ 60 ล้านบาท โดยระยะแรกดำเนินการไปแล้ว 200 กิโลวัตต์ ระยะที่ 2 รอดำเนินการ 100 กิโลวัตต์ ระยะที่ 3 จำนวน 50 กิโลวัตต์ ระยะที่ 3 จำนวน 50 กิโลวัตต์ โดยตามแผนนั่นต้องดำเนินติดตั้งครบแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2568