ก.พลังงานเล็งปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน45-50%

ผู้ชมทั้งหมด 1,660 

ก.พลังงานกำหนดกรอบแผนพลังงานแห่งชาติคาดเสร็จกลางเดือนมิ.ย.นี้ เสนอกพช.อนุมัติภายในเดือน ก.ค. 64 พร้อมเล็งยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 45-50% บรรจุในแผนพีดีพี 2022

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินการกำหนดกรอบแผนพลังงานแห่งชาติคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือนมิถุนายน 2564 คาดว่านำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 จากนั้นก็จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะจัดทำแผนแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 พร้อมประกาศเป็นนโยบายต่อไป

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นนั้นกรอบแผนพลังงานแห่งชาติจะมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) โดยทั่วโลกเริ่มมีการประกาศกำหนดเป้าหมายกันแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าลด Co2 เหลือศูนย์ภายในปี 2050 ขณะที่จีนตั้งเป้าลด Co2 เหลือศุนย์ภายในปี 2060 ซึ่งประเทศไทยก็ต้องกำหนดเป้าหมายก่อนว่าจะลดเท่าไหร่ โดยจะต้องพิจารณาในหลายด้านด้วยกัน โดยในประเทศไทยนั้นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงาน 30% มากที่สุด รองลงมาจะเป็นภาคขนส่ง

ทั้งนี้กรอบแผนพลังงานแห่งชาติจะต้องพิจารณาในหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่จะเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็น การอนุรักษ์พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เพิ่มปริมาณรถเป็นเท่าไหร่ การพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ การผลิตเองใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบดูว่ามีการผลิตไฟฟ้าใช้เองกี่ รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง

นอกจากนี้ก็ต้องพิจารณาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่ง กระทรวงพลังงาน จะต้องวางแผนสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศและการนำเข้า LNG ด้านน้ำมันยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้นหรือไม่ เอกชนที่ลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นรองรับมาตรฐานยูโร 5 ที่มีกำหนดบังคับใช้ในปี 2567 จะได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมถึงพิจารณาถึงเรื่องการพัฒนาไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง การใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของรถไฟฟ้า ซึ่งก็ต้องนำมาพิจารณาเพื่อวางกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ

ขณะเดียวกันภายหลังจากที่จัดทำแผนพลังงานแห่งชาติแล้วเสร็จก็ต้องนำมากำหนดเป็นกรอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) ซึ่งจะต้องปรับเป้าหมายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มเป็น 45-50% จากที่แผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ปี 2561-2580 ตั้งเป้ามีสัดส่วนพลังงานทดแทน 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับกรอกแผนพลังงานแห่งชาติ และกำหนดให้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างใหม่จะไม่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยกเว้นโรงไฟฟ้าแม่เมาะส่วนขยาย 600 เมกะวัตต์ที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนแล้ว โดยโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนสร้างใหม่อาจจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทน นอกจากนี้ก็ต้องพิจารณาถึงสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว เพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเท่านั้น

นอกจากนี้แล้วยังต้องนำเอากรอบแผนพลังงานแห่งชาติมากำหนดปรับแผนปฏิบัติการ 5 แผน เพื่อนำมาใช้ในระยะ 5-10-15 ปี ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน ( EEP ) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan ) ด้วย