ก.พลังงานเร่งกฟผ.-ปตท.ลงทุนครึ่งปีหลัง64กระตุ้นเศรษฐกิจ

ผู้ชมทั้งหมด 1,259 

ก.พลังงานเร่งกฟผ.-ปตท.ลงทุนครึ่งปีหลัง 64 หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว พร้อมเตรียมลงนามสัญญาโครงการเสนอของบกองทุนอนุรักษ์ฯทุกกลุ่มให้ได้ทั้งหมดภายเดือนกรกฎาคม

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานนะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปี 2564 ที่มีกรอบวงเงินรวม 6,500 ล้านบาท จำนวน 7 กลุ่มงานนั้นมีผู้ที่สนใจเสนอโครงการ 2,000 กว่าโครงการวงเงินรวม 14,956 ล้านบาท โดยปลายเดือนมิถุนายนนี้คาดว่าจะพิจารณาอนุมัติโครงการในกลุ่มที่ 1-6 แล้วลงนามสัญญาได้ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564

ส่วนกลุ่มที่ 7 กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากที่มีกรอบวงเงินจัดสรร อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท ซึ่งจะกระจายให้จังหวัดละ 25 ล้านบาท ครบอคลุม 76 จังหวัดนั้นมีการยื่นเสนอโครงการมาคิดเป็นวงเงิน 4,549 ล้านบาท ในขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดกรองโครงการและตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติโครงการได้ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และลงนามสัญญาได้ปลายเดือนกรกฎาคม 2564

นายกุลิศ กล่าวถึงแผนการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงพลังงานกำกับดูแล ว่า แผนการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ของรัฐวิสาหกิจทางกระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามแผนการลงทุนของทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพิจารณาการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยในส่วนของ กฟผ. ก็ได้เตรียมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ไม่ว่าจะเป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนต่างๆ การลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน การลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station)

รวมถึงการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนของการผลิตไฟฟ้า การลงทุนพัฒนาด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งก็ได้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ที่มี กฟผ. ถือหุ้นร้อยละ 40 บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้นร้อยละ 30 และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 30 เพื่อร่วมกันพัฒนาวิจัยนวัตกรรมของกลุ่มกฟผ. เพื่อต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังมีแผนร่วมลงทุนในโครงการใหญ่ที่ต้องดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คือ การลงทุนปรับปรุงระบบสายส่งให้ทันสมัย การพัฒนาเดลต้าแพลตฟอร์มสำหรับรองรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ส่วนบริษัท ปตท. ก็มีแผนขยายการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ การลงทุนโรงไฟฟ้าที่ทั้งกลุ่มปตท.ได้กำหนดเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 16,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 โดยแบ่งเป็น กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงทั่วไป (conventional) 8,000 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) 8,000 เมกะวัตต์ รวมถึงยังได้ประกาศขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV แบบครบวงจร (EV value chain)

นอกจากนี้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจกระทรวงพลังงานก็พยายามที่จะกำหนดว่าจะให้รัฐวิสาหกิจเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งการลงทุนของกฟผ.กับปตท.ก็จะมีการร่วมลงทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี ในสัดส่วน 50:50 และก็มีอีกหลายโครงการที่กฟผ.กับปตท.อยู่ระหว่างเจรจาที่จะร่วมลงทุนด้วยกัน ซึ่งเรื่องแผนและทิศทางในการลงทุนคาดว่าปลายเดือนมิถุนายนนี้ก็จะมีความชัดเจน