ผู้ชมทั้งหมด 1,276
“กุลิศ” ยันเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนภายใต้เงื่อนไขใหม่ฉบับ “สุพัฒนพงษ์” เร่งรื้อหลักเกณฑ์รองรับซื้อไฟ 100-200 เมกะวัตต์ คาดสรุปสิ้น ก.ย.นี้ เสนอ กพช.เดือน ต.ค.นี้ ก่อนเปิดยื่นโครงการฯ พ.ย.นี้ พร้อมดันแผนพีดีพี 2018 (ฉบับปรับปรุงใหม่) เข้าครม.อีกครั้ง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ยังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากแน่นอน แต่ยอมรับว่าจะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯใหม่ ตามที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณารายละเอียดโครงการให้รอบครอบและเป็นประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่มากที่สุด โดยคาดว่า การจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่จะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้ และต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)รับทราบ ภายในเดือนต.ค.นี้ จากนั้น คาดว่าจะประกาศยื่นเสนอโครงการฯได้ ภายในเดือนพ.ย.นี้
“โรงไฟฟ้าชุมชน ตอนนี้ ต้องไปดูหลักเกณฑ์ฯใหม่ทั้งหมด เช่น การกำหนดสัดส่วนให้ชุมชนเข้าถือหุ้น 10-40% ควรมีหรือไม่ เพราะหลายเสียงก็อยากให้ยกเลิกไป แล้วไปเพิ่มประโยชน์ด้านอื่นแทน เช่น รับซื้อวัตถุดิบในราคาที่สูงไปเลย เรื่องของคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming ) จะเกิดการขึ้นได้จริงไหม รวมถึง พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะมีสายส่งรองรับหรือไม่ รับได้กี่เมกะวัตต์ และจะทำยังไงไม่ให้โครงการที่เป็นพวกVSPP เก่า เข้ามาสวมสิทธิ์รับอัตราค่าไฟที่แพงกว่าของเดิม ก็ต้องดูให้ละเอียด”
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน คาดว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะนำร่องเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบได้ประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ ไม่ว่าจะดำเนินการภายใต้ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) หรือ แผน PDP 2018 (ฉบับปัจจุบัน) ก็ตาม แม้ว่า แผน แผน PDP 2018 (ฉบับปัจจุบัน) จะยังไม่ได้บรรจุเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบรวม 1,933 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 แต่ก็สามารถเกลี่ยสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้เชื้อเพลิงชีวมวลหรือชีวภาพที่ยังเหลืออยู่ในแผน PDP 2018 (ฉบับปัจจุบัน) ได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน ได้นำทั้ง 4 แผนพลังงานที่ปรับปรุงใหม่ คือ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 Rev.1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2018) กลับเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)อีกครั้ง ซึ่งไม่ว่ามติของครม.จะรับร่างแผนPDP ฉบับใหม่นี้หรือไม่ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ส่วนจะรับซื้อได้ตามเป้าหมายเดินที่กำหนดไว้ 1,933 เมกะวัตต์ หรือไม่นั้น จะต้องรอประเมินผลในทางปฏิบัติของโครงการนำร่อง 100-200 เมกะวัตต์แรกก่อน
ส่วนการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่นั้น กระทรวงพลังงาน จะจัดทำภายใต้แผน PDP 2022 เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านพลังงาน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการปรับพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อการใช้ไฟฟ้าในประเทศให้ชัดเจนขึ้น
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การปรับรูปแบบหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนฯ ที่หน่วยงานต่างๆเตรียมนำเสนอนายสุพัฒนพงษ์ พิจารณาหลังมอบหมายให้ดำเนินการใน 30 วันนั้น เบื้องต้น ในส่วนของโครงการ ได้เสนอให้เปลี่ยนจากโครงการเร่งด่วน(Quick Win) เป็นโครงการนำร่อง ส่วนปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากเดิมกำหนด รับซื้อ 100 เมกะวัตต์แรก ภายใน 1 ปี และรับซื้ออีก 600 เมกะวัตต์ ในระยะต่อไป จะเปลี่ยนเป็น รับซื้อ 100 เมกะวัตต์แรกใน 1 ปี และรับซื้ออีก 100 เมกะวัตต์ ภายใน 36 เดือน
ขณะที่เงื่อนไข คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming )โรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) เดิมให้ทำกับวิสาหกิจชุมชน รายละเอียดทั่วๆไป จะปรับเป็นระบุรายละเอียด เช่น ราคารับซื้อขั้นต่ำ มาตรฐานเชื้อเพลิง ความชื้น
โดยจะต้องหารือกับกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการกำกับดูแลสัญญา ส่วน โรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) จะไม่ทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming ) แต่เพิ่มส่วนแบ่งรายได้จาก 0.25 บาทต่อหน่อย เป็น 0.35 บาทต่อหน่วย
รวมถึงที่กำหนดการปลูกพืชนั้น เดินจะเป็นการส่งข้อมูลพื้นที่ที่จะปลูกให้พิจารณา เป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่และการปลูกจริง ส่วนเงื่อนไขความยั่งยืนนั้น เดิมไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ จะรูปแบบใหม่จะกำหนดเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตหากไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอ จะต้องถูกยกเลิกใบอนุญาต หรือกำหนดไว้ใน PPA
ส่วนการพิจารณาคัดเลือก และอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT นั้น เดิมกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าคงที่ และให้แข่งขันกันภายใต้การเสนอผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนมากที่สุด แต่รูปแบบใหม่ จะให้แข่งขันกันประมูลเสนอราคาค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด โดยกำหนดโควตาของแต่ละเทคโนโลยี เพื่อให้แข่งขันกันเฉพาะในกลุ่มเชื้อเพลิงประเภทเดียวกัน ขณะที่การบริหารส่วนแบ่งรายได้ เดิมกำหนดตั้งกองทุนโงไฟฟ้าชุมชน เป็นใช้กองทุนหมู่บ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว
“หลักเกณฑ์ใหม่ ยังจะไม่เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเข้ามาร่วมจัดทำโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เพื่อหวังผลสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหุ้นในบริษัทนั้นๆ แต่ต้องการให้เอสเอ็มอีภาคพลังงานตัวจริงเข้ามาดำเนินโครงการนี้ ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง” แหล่งข่าวกล่าว