ก.คมนาคมใส่เกียร์5ลุย11แผนงานงบลงทุน2.7แสนล.

ผู้ชมทั้งหมด 1,435 

ก.คมนาคมใส่เกียร์ 5 เดินหน้าลุย 11 นโยบาย งบลงทุน 2.7 แสนล้าน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ศึกษาพัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์คู่ขนาดรถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง หวังนำร่องเส้นทางชุมพร-ระนองเชื่อมขนส่งอ่าวไทย อันดามันยกระดับเป็นศูนย์กลางขนส่งภูมิภาค

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงนโยบายปี 64 ว่า ในปี 64 กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลระบบคมนาคมให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการสานต่อนโยบายเดิมจากปี 63 และการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 64  จำนวน 11 แผนงานงบลงทุนรวมกว่า 2.7 แสนล้านบาท

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายปี 64 นั้น ประกอบด้วย เรื่องที่ 1 ศึกษาแผนแม่บท MR-MAP (ทางรถไฟ และ มอเตอร์เวย์) 9 เส้นทาง แบ่งเป็นโครงการเชื่อมระหว่างเหนือกับใต้ 3 เส้นทาง คือ เชียงราย-สงขลา หนองคาย-แหลมฉบัง บึงกาฬ-สุรินทร์ ส่วนอีก 6 เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างตะตกกับตะวันออก คือ ตาก-นครพนม กาญจนบุรี-อุบลราชธานี กาญจนบุรี-สระแก้ว ชุมพร-ระนอง ภูเก็ต-สุราษฏร์ธานี และกาญจนบุรี-ตราด

ทั้งนี้โครง MR-MAP นั้นเป็นการวางแผนการพัฒนามอเตอร์เวย์ให้สอดคล้องไป กับการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ซึ่งจะลดปัญหาการเวนคืนที่ดินซ้ำซ้อน เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และบูรณาการโครงข่ายการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่ 2 ศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Land Bridge โดยการพัฒนามอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกจ.ชุมพรกับจ.ระนอง ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุนในปีหน้า โดยโครงการนี้จะเป็นการลดเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้า เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับการขนส่งและ โลจิสติกส์ ของทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค

เรื่องที่ 3 ตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมธุรกิจการตลาด และเปิดช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในพื้นที่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า และท่าอากาศยาน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก รวมถึงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องที่ 4 สร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ด้วยการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ว่างของ การรถไฟแห่งประเทศไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้สวยงามร่มรื่น และจัดพื้นที่ใช้สอย ให้เกิดประโยชน์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่

เรื่องที่ 5 ผลักดันการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV สำหรับใช้ในระบบขนส่ง สาธารณะ เช่น รถโดยสารไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า และการนำระบบ EV พลังงาน Battery on Train มาใช้กับรถไฟไทย เพื่อประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และยกระดับระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยให้เป็นสากล

เรื่องที่ 6 ศึกษาและกำหนดแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยาง ในการพัฒนาระบบขนส่ง มวลชนหลักในภูมิภาค ซึ่งใช้งบประมาณต่ ากว่ารถไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และเตรียมพร้อมยกระดับการพัฒนาระบบเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) ในอนาคตต่อไป

เรื่องที่ 7 พัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง หรือ Feeder เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง จากย่านธุรกิจหรือชุมชนต่าง ๆ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลัก อำนวยความสะดวกในการเดิน ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น เรื่องที่ 8 เร่งรัดการเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงและ สถานีกลางบางซื่อ โดยพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มรูปแบบในปี 64

เรื่องที่ 9 แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยบูรณาการ โครงข่ายทางหลวง มอเตอร์เวย์และทางด่วนพิเศษเข้าด้วยกัน จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. มอเตอร์เวย์ช่วง ศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ 2. ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน 3. ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์ และ 4. ทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9 – พระราม 2

เรื่องที่ 10 แก้ปัญหาการจราจรใน จ.ภูเก็ต โดยบูรณาการโครงข่ายทางพิเศษ สายกะทู้- ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยใรขณะนี้ กทพ.ได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้แล้ว คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กลางปี 64 โดยโครงการนี้จะเชื่อมกับโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. ของกรมทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยว จากท่าอากาศยานจ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.พังงา  

เรื่องที่ 11 วางระบบติดตามโครงการขนาดใหญ่ เพื่อบูรณาการการบริหาร สั่งการติดตามผล และแก้ไขปัญหาในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่  เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน -นครราชสีมา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี โครงข่ายรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา

สำหรับโครงการที่จะสายต่อนโยบายปี 63 นั้นยังคงค้างอยู่ 7 เรื่อง อาทิ จัดทำแอพพลิเคชั่นแท็กซี่เพื่อติดตามข้อมูลการเดินทางของแท็กซี่ เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ จะมีการลงนามพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและค่าโดยสาร ร่วมกับสถาบันทางการเงิน นอกจากนี้ จะเร่งพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง รวมทั้งผลักดันการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ไปท่าเรือแหลมฉบัง และเร่งพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตรหรือเน่าเสียง่ายออกสู่ตลาด