ผู้ชมทั้งหมด 1,351
ก.คมนาคมคลิ๊กออฟยางพาราผลิตอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนนภาคอีสาน เริ่มนครพนม บึงกาฬและเลย ช่วยยกระดับราคายางสูงขึ้น ชี้ช่วงระหว่างดำเนินโครงปี 63 – 65 คาดดูดซับยางพารา 1,007,951 ตันช่วยเกษตรกรมีรายได้จำนวน 30,108 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการนำน้ำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ว่า นครพนมเป็นจังหวัดแรกในภาคอีสานที่กระทรวงคมนาคมได้คลิ๊กออฟนำแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และนำน้ำยางพารา (Rubber Guide Post: RGP) มาใช้เป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยนำร่องบริเวณทางหลวงหมายเลข 2033 ตอนคำพอก-หนองญาติ ต.ญาติ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม
ทั้งนี้การคลิ๊กออฟยางพาราที่จ.นครพนม เป็นการศึกษากระบวนการผลิตอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ด้วยการใช้ยางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่นิยมทำกันมากกว่าร้อยละ 55 ของเกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เนื่องจากยางก้อนถ้วย ผลิตง่าย และไม่ต้องใช้เงินลงทุนและแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเมื่อนำยางก้อนถ้วยมาใช้ในโครงการฯ จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการเรียนรู้ และต่อยอดองค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่า ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราในประเทศให้มากขึ้นตามไปด้วย
โดยในช่วงที่เริ่มโครงการนี้ครั้งแรกที่จ.จันทบุรีในช่วงเดือน ส.ค.63 ราคาน้ำยางอยู่ในระดับ 43 บาท ผ่านมา1 เดือนน้ำยางราคาขึ้นเป็น 61.31 บาท ขึ้นเกือบ20บาท แต่ภาคอีสานจะทำยางก้อนถ้วยเดิมราคา 20 บาทต่อกิโลกรัมเพิ่มเป็น 43 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ภายหลังจากเปิดโครงการคลิ๊กออฟที่จ.นครพนมแล้ว จะดำเนินโครงการในภาคอีสานอีก2 จังหวัด ได้แก่ ที่ จ.บึงกาฬ และ จ.เลย ซึ่งทั้ง 3 จังหวัด เป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของภาคอีสาน
ทั้งนี้ผ่านมารัฐบาลพยายามนำยางพารามาแปรรูปในหลายรูปแบบ แต่ยังใช้ยางพาราน้อย ปี 61 ใช้ยางพาราในโครงการรัฐบาล 87000 ตัน และปี 62 ใช้ 102,000 ตัน แต่โครงการนี้มีเป้าหมายจะใช้ยางพารา 1,007,951 ตันในระหว่างปี 63 – 65 คาดใช้งบลงทุนราว 85,000 ล้านบาทในการลงทุนผลิตอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน และจากการดำเนินโครงการคาดว่าจะทำให้เกิดผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับจำนวน 30,108 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในปีนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้ของบกลางไปแล้ว 2,700 ล้านบาท และในปี 64 คาดจะของบในวงเงินใกล้เคียงปี 63
ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงรับรองให้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด