ผู้ชมทั้งหมด 1,616
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน และยังถูกกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีน โดยนักวิเคราะห์ราคาน้ำมันจากวงการพลังงาน คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 102-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นอกจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงแล้วค่าการกลั่นก็ปรับลดลงด้วย เนื่องจากคาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้น โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบดูไบลดลงถึง 58% ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลกับน้ำมันดิบดูไบลดลง 41% ส่งผลให้ค่าการกลั่นของสิงคโปร์ปรับลดลงประมาณ 19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ลดลง 63%) จากระดับสูงสุดในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 สถานการณ์ข้างต้น ส่งผลให้ราคา น้ำมันกลุ่มเบนซิน (เบนซิน แก๊สโซฮอล์ E10 และ E20) หน้าปั๊มปรับลดลงมาถึง 5.1 บาทต่อลิตร
สำหรับ น้ำมันกลุ่มดีเซล จะเห็นว่าราคาหน้าปั๊มยังคงตรึงอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร แต่เงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.56 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เคยชดเชยถึง 11.84 บาทต่อลิตร โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ที่รายงานล่าสุด ณ วันที่ 3 ก.ค. 65 ติดลบ 107,601 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 69,718 ล้านบาท และกองทุน LPG ติดลบ 37,883 ล้านบาท
คาดการณ์ราคาน้ำมัน
สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ในช่วงครึ่งปีหลัง (ไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2565) หลายฝ่ายคาดว่ายังมีความเสี่ยงหลายด้าน และผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ล่าสุดราคาน้ำมันดิบปรับลดลงมากกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงมากกว่า 35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากความกังวลเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะหลังจากจีนกลับมาปิดเมืองบางส่วนอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง หรือมีความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย และกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน รวมถึงราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปสำเร็จรูป ในตลาดโลกได้ ด้านนักวิเคราะห์ราคาน้ำมัน คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะทรุดตัวลงแตะระดับ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปลายปีนี้ และดิ่งลงสู่ 45 เหรียญสหรัฐในปลายปี 2566 หากเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
นักวิเคราะห์ฯ ระบุว่า ไม่ควรนำค่าการกลั่นรายวัน มาเปรียบเทียบกัน เพราะจะสร้างความสับสนให้กับประชาชน ราคาน้ำมันเป็นราคาที่มีความผันผวนสูง ที่ผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลเทียบกับน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงกว่า 50% (ดังแสดงในตารางด้านล่าง) การนำราคาน้ำมันและค่าการกลั่นรายวันมาเปรียบเทียบกันนั้น ไม่สามารถบ่งบอกถึงกำไรของโรงกลั่นน้ำมันได้ และจะทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันและค่าการกลั่น ในแต่ละวัน ยกตัวอย่างเช่น 1. อัตราแลกเปลี่ยน จากสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย 2.อุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ 3. อุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น
ดังนั้น การเปรียบเทียบราคาน้ำมันและค่าการกลั่นสำหรับการวิเคราะห์กำไรของโรงกลั่นน้ำมัน ควรพิจารณาในลักษณะที่เป็นค่าเฉลี่ยในระยะยาว เช่น รายปี เนื่องจากราคาน้ำมันและค่าการกลั่นมีความผันผวนสูงการนำมาค่าการกลั่นระยะสั้น เช่น รายวัน รายเดือน หรือรายไตรมาส มาเปรียบเทียบกัน จะสร้างความสับสนให้กับประชาชน
นอกจากนี้ การนำสถานการณ์ราคาน้ำมันและค่าการกลั่นสูงขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ มาเปรียบเทียบกัน และมากล่าวอ้างว่าโรงกลั่นทำกำไรมากเกินควร แล้วเรียกเงินจากค่าการกลั่นส่วนเกินจากโรงกลั่นน้ำมันนั้น คงไม่ถูกต้องเราจะต้องพิจารณาสถานการณ์ระยะยาวเนื่องจากตลาดน้ำมันมีความผันผวนสูงจากการคาดการณ์ราคาน้ำมันจะลดลงในช่วงปลายปีนี้ และในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า โรงกลั่นน้ำมันต่างๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุนสต็อกน้ำมันในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ซึ่ง ณ ขณะนั้น คงจะไม่มีใครมาเรียกร้องว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยโรงกลั่นน้ำมันอย่างไรบ้าง