ผู้ชมทั้งหมด 730
การบินไทย เล็งปรับแผนฟื้นฟูฯ หากก.คลังไม่ตอบรับเพิ่มทุน หวังได้ข้อสรุปปลายเดือนนี้ พร้อมเดินหน้ากู้เอกชน 2.5 หมื่น ลั่นเพียงพอดำเนินธุรกิจ มั่นใจรายได้แตะระดับแสนล้านในปี 66 ในปี 67 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 – 1.5 แสนล้านหนุนกำไรจากการดำเนินงานพลิกเป็นบวก
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยภายหลังแถลงผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือน ว่า การดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการในขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลังพิจารณาแปลงหนี้เป็นทุนจำนวน 13,000 ล้านบาท และเพิ่มทุนอีก 12,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งทางการบินไทยก็หวังว่าจะได้รับความชัดเจนจากกระทรวงการคลังอย่างเร็วภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 หรืออย่างช้าไม่เกินปลายปีนี้
อย่างไรก็ตามหากกระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ์ การบินไทยก็ต้องดำเนินการปรับแผนฟื้นฟูในบางข้อ แต่ก็ต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลังก่อน พร้อมกันนี้การบินไทยก็ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดการเนินการขอกู้เงินสถาบันการเงินควบคู่กันไปด้วย โดยเตรียมขอกู้เงินสถาบันการเงินจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจตามแผนฟื้นฟู คาดว่าจะดำเนินการกู้เงินจากสถาบันการเงินรายเดิมได้ในต้นปี 2565
ทั้งนี้ตามแผนการกู้เงินเดิมในแผนฟื้นฟูต้องกู้เงิน 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกู้เงินเอกชน 25,000 ล้านบาทกู้เงินกระทรวงการคลัง 25,000 ล้านบาท แต่หากกระทรวงการคลังไม่ดำเนินการตามแผนการกู้เงินเอกชนเพียงอย่างเดียวก็เชื่อมั่นว่าจะเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟู ส่วนในกรณีการเพิ่มทุนนั้นผู้ถือหุ้นรายเดิมมีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ในราคาหุ้นละ 2.54 บาท หากกระทรวงการคลังไม่ใช้สิทธิ์ในการเพิ่มทุนก็จะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลดลงเหลือ 8% จาก 48%
“ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังเหลือเพียง 8% จะมีผลต่อการเป็นสายการบินแห่งชาติหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการตีความของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากยังตีความว่าเป็นสายการบินแห่งชาติก็ได้แม้จะถือหุ้นเพียง 8% ก็ตาม” นายปิยะสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์ที่ผ่านมาการบินไทยขอให้ภาครัฐช่วยขอให้หน่วยงานภาครัฐ ที่ยังมีหนี้คงค้างกับการบินไทยทั้ง ค่าซ่อม กว่า 3,000 ล้านบาท หนี้กองทุนบำเหน็จบำนาญอีกว่า 2,200 ล้านบาท และหนี้อื่นๆรวมแล้วกว่า 5,200 ล้านบาทมาใช้หนี้การบินไทยด้วยหากไม่พิจารณาเพิ่มทุน เพื่อการดำเนินธุรกิจการบินไทยมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในปี 2565 การบินไทยมั่นใจว่าจะมีรายได้รวมมากกว่า 50,000 ล้านบาท หรือมากกว่าปี 2563 ที่มีรายได้รวม 48,636 ล้านบาท เนื่องจากภายหลังจากที่รัฐบาลเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ก็เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งปัจจุบันการบินไทยได้ทยอยเปิดเส้นทางการบินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินเข้ายุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยได้ทำการเพิ่มเส้นทางบินและเที่ยวบินทั้งในส่วนของบริษัทฯ และสายการบินไทยสมายล์ไปยัง 44 จุดหมายปลายทางหลักในประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เปิดประตูเชื่อมไทยสู่โลกและเชื่อมไทยเป็นหนึ่ง รองรับผู้โดยสารกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ผลักดันให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารกลับไปสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 และตอกย้ำความเป็นสายการบินแห่งชาติในการร่วมเปิดประเทศและทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาการบินมีรายได้ 1,200 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าว 90%มาจากการขนส่งสินค้า และอีก 10%เป็นการขนผู้โดยสาร ซึ่งส่วนนี้จะไม่รวมฝ่ายช่าง ภาคพื้น และครัวการบิน ขณะที่เดือนพฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เปิดประเทศผู้โดยสารเพิ่ม10 วันแรกในเดือนพฤศจิกายนมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 750 คน จากที่ก่อนหน้านี้มีเฉลี่ยวันละ 300 คนเท่่านั้น จะเห็นได้ว่ารายได้จากผู้โดยสารจะทยอยเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้รายได้หลักจะมาจากคาร์โก้ คาดว่าถ้าธุรกิจการบินดีขึ้นจะทำให้การบินไทยสามารถเลี้ยงตัวเองได้
ส่วนในปี 2566 คาดว่ารายได้รวมจะกลับมาอยู่ในระดับ 100,000 ล้านบาท และในปี 2567 คาดว่ารายได้รวมจะอยู่ในระดับ 140,000 – 150,000 ล้านบาท ก็จะทำให้กำไรจากการดำเนินงานกลับมามีกำไรอีกครั้ง ซึ่งประเมินจากศักยภาพเครื่องมือดำเนินธุรกิจที่ปัจจุบันมีเครื่องบินอยู่ 54 ลำ ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็จะลดลงไปจำนวนมากตามแผนฟื้นฟู
นอกจากนี้ การบินไทยยังดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการหารายได้จากการพัฒนาระบบตัวแทนจำหน่าย การบริหารช่องทางการขายตรง ตลอดจนการลงทุนนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามายกระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ คู่ขนานมาโดยตลอด มีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่องและทำกำไรได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงผลประกอบการ 9 เดือนแรก 2564 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือ 66.1% มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 36,481 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 41,695 ล้านบาท (53.3%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิรูปธุรกิจ
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้ จำนวน 73,084 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 จำนวน 51,115 ล้านบาท
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 163,703 ล้านบาทลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 45,594 ล้านบาท (21.8%) หนี้สินรวมมีจำนวน 240,196 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 97,766 ล้านบาท (28.9%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 76,493 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 52,172 ล้านบาท