การบินไทย ปี 64 มีกำไร 5.5 หมื่นล้าน แต่ยังมีหนี้ 2.32 แสนล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 542 

การบินไทย ปี 64 โชว์กำไร 5.5 หมื่นล้าน แต่ยังมีหนี้สินรวม 2.32 แสนล้าน ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.9 หมื่นล้าน เล็งเซ็นเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านมี.ค.นี้ ยันเพียงพอต่อการทำให้การบินไทยเติบโตอย่างยั่งยืน หวังปีนี้เอเชียเปิดประเทศ ช่วยหนุนการเติบโต

นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) มีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51% สืบเนื่องจากรายได้ จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) และรายได้จากบริการอื่นๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป จากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 55,113 ล้านบาท

ขณะที่สิ้นปี 2564 นั้นบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 161,219 ล้านบาท ลดลง จากปีก่อน 2563 จำนวน 48,078 ล้านบาท หรือ 23% หนี้สินรวม 232,470 ลดลงจากปี 2563 จำนวน 105,492 ล้านบาท หรือ 31.2% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 71,251 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่31 ธันวาคม 2563 จำนวน 57,414 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คนในเดือนตุลาคมเป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ ในขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือนกันยายน 2564 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับ เพียง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ

ทั้งนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมฯ โดยการยกเลิกมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัทฯ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงกว่า 20% จากในเดือนธันวาคม 2564

เล็งกลับมาเปิดเส้นทางบินในเอเชียเพิ่ม

อย่างไรก็ตามล่าสุดภาครัฐนำมาตรการ Test and Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง การบินไทยจึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์

รวมทั้งเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่ากลุ่มประเทศเอเชียจะเริ่มทยอยเปิดประเทศได้ภายในปีนี้ ซึ่งการบินไทยมีตลาดหลักอยู่หลายประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น  ส่วนสายการบินไทยสมายล์ได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการหารายได้ด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักแก่บริษัทฯ ในช่วงที่การขนส่งผู้โดยสารยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเกือบ 50% ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา

เซ็นสัญญาเงินกู้ใหม่มีนาคมนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 มั่นใจว่าจะเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจตามแผนฟื้นฟู และสร้างการเติบโตของการบินไทยได้อย่างยั่งยืน โดยการจัดหาเงินกู้ในครั้งนี้การบินไทยได้ตั้งให้ธนาคารกรุงเทพ เป็นอันเดอร์ไรท์เตอร์ (Underwriter) ทำหน้าที่ในการเจรจากับแหล่งเงินกู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)

สำหรับเงินกู้ดังกล่าวการบินไทยจะนำไปจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานที่ลาออกไปก่อนหน้านั้นเป็นระยะเวลา 12 เดือน ที่ยังเหลือค้างจ่ายอยู่ราว 4,000 ล้านบาท และจ่ายค่าคืนตั๋วโดยสารเครื่องบินราว 10,000 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

อย่างไรก็ตามแม้กระทรวงการคลังจะไม่ใส่เงินกู้ใหม่เข้ามา แต่จะมีการดำเนินการด้านอื่นๆ เพื่อให้ภาครัฐยังคงถือหุ้นในการบินไทยที่สัดส่วน 40% ซึ่งการบินไทยอาจจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง โดยจะมีธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และกองทุนวายุภักษ์ เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย  สามารถที่จะแปลงหนี้เป็นทุนได้

ทั้งนี้การดำเนินการกู้เงินนั้นจะทำควบคู่ไปกับการจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดย บริษัทฯ จะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายภายในเดือนมีนาคม 2565