ผู้ชมทั้งหมด 1,155
“การบินไทย” แย้มหลังยื่นแผนฟื้นฟูฯ โควิด-19 คลี่คลาย เตรียมกลับมาทำการบินเชิงพาณิชย์ ก.ค. 64 จำนวน 5 เส้นทางยุโรป เอเชีย 6 เส้นทางบิน พร้อมเสนอชื่อ “ปิยสวัสดิ์” “จักรกฤศฎิ์” เป็นผู้บริหารแผน ชูกลยุทธ์ 4 สร้างความยั่งยืน วางเป้า EBIT 10% ในปี 68
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 นั้น ในวันนี้ (วันที่ 2 มีนาคม 2564) การบินไทยได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจนแล้วเสร็จและได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
ทั้งนี้ในปัจจุบันการบินไทยมีมูลหนี้รวม 1.3 หมื่นราย จำนวนหนี้รวม 4.1 แสนล้านบาท โดยในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตแผนฟื้นฟู หากแผนผ่านจะส่งเรื่อต่อให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาคาดว่าจะรู้ผลในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 ว่าศาลจะเห็นชอบหรือไม่ และหากแผนผ่านการพิจารณาจะเข้าสู่ขั้นตอนการบริหารแผนฟื้นฟู นั้นในเบื้องต้นคณะกรรมการบอร์ด การบินไทยได้มีการเสนอชื่อผู้บริหารแผนไปแล้ว 2 คน คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล
โดยภายหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้รับความเห็นชอบจากศาล รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลงการบินไทยก็พร้อมที่จะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 การบินไทยจะกลับมาเปิดเที่ยวบินประจำเชิงพาณิชย์ ในเส้นทางยุโรป 5 เมือง คือ ลอนดอน ซูริค แฟรงค์เฟิร์ส โคเปนเฮเกน และปารีส ส่วนเอเชียเปิดบิน เมือง ฮาเนดะ นาริตะ โอซาก้า อินชอน ซิดนีย์ และ สิงคโปร์ ส่วนเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง อยู่ระหว่างขออนุญาติการทำการบิน โดยระยะแรกบางเส้นทางอาจจะทำการบินสัปดาห์ละ 2-3 เที่ยวบิน
ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของการบินไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสามารถสร้างรายได้ ตลอดจนทำกำไรได้อย่างยั่งยืน โดยการบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่
1. เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก ด้วยทางเลือกผลิตภัณฑ์ตามความพึงพอใจของลูกค้าโดยการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพสูงโดยมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
2. เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้นโดยมีผลตอบแทนรายได้และกำไรของธุรกิจจากการนำเสนอบริการเสริมเพื่อเป็นตัวเลือก อย่างเต็มรูปแบบ และมีการผสมผสานช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ทำให้เกิดการตลาดแบบผสมผสานกันในหลากหลายช่องทาง (Omnichannel) อีกทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งทางการพาณิชย์ด้วยการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการพาณิชย์อย่างเข้มข้น
3. การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ อาทิ การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินที่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงการปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับธุรกิจเพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น การปรับลดจำนวนพนักงานให้อยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ได้
4. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยและการเป็นศูนย์กลางการเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้ในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยการปรับใช้และปรับปรุงระบบและกระบวนการในการทำงานด้วยวิธีการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรม การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของพนักงานในทุกระดับ การกำหนดดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) และแรงจูงใจ (Incentives) ที่เหมาะสมให้สอดคล้องไปกับความสำเร็จของแผนปฏิรูปธุรกิจ
นอกจากนี้การบินไทยยังได้เร่งทำโครงการริเริ่ม 500 โครงการ เพื่อเร่งลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ รวมถึงโครงการเสียสละเพื่อองค์กร คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้การบินไทย 3.6 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และตั้งเป้าที่จะเพิ่มเป็น 5.8 หมื่นล้านภายในปี 2565 ส่วนด้านการปรับลดค่าใช้จ่าย ด้านเจ้าหนี้ค่าเช่าเครื่องบินในระยะสั้นค่าเช่าได้ 20% ระยะยาม ปรับลด 40% รวมทั้งปรับลดพนักงานให้เหลือ 1.4-1.5หมื่นคน ภายในสิ้นปี 2564 จากปัจจุบันมีพนักงานราว 2.1 หมื่นคน โดยดำเนินภายใต้โครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการ MSP B และ MSP C ซึ่งคาดว่าภาพรวมจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ราว 5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2565 และคาดว่าจะทำให้การบินไทยเกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 2568