“การบินไทย”ศาลฯไฟเขียวแผนฟื้นฟูมั่นใจ5ปีกลับมามีกำไร

ผู้ชมทั้งหมด 1,214 

การบินไทย ศาลไฟเขียวแผนฟื้นฟู เตรียมลุยเพิ่มเที่ยวบินยุโรป 5 เส้นทางในไตรมาส 3-4/64 รองรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์  พร้อมกู้เงิน 5 หมื่นล้านบาทเสริมสภาพคล่อง มั่นใจ 5 ปีแผนฟื้นฟูสำเร็จกลับมามีกำไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้รับคำคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้จำนวน 2 ฉบับ คำชี้แจงของผู้ทำแผน ตลอดจนความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในประเด็นต่าง ๆ แล้ว ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข กล่าวคือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผนซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟู การบินไทยจะมีการประชุมกรรมการ (บอร์ด ) เพื่อพิจารณารับทราบกรณีศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบแผนฟื้นฟู รวมทั้งมีการพิจารณาบทบาทหน้าที่ของตน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บริหารแผนรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท และยังดำรงตำแหน่งผู้บริหารแผนด้วย

โดยบอร์ดจะต้องพิจารณาว่า มีความจำเป็นต้องแต่งตั้งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ คนใหม่ แทนตนหรือไม่ เพื่อให้แบ่งงานกันทำ และให้ตนสามารถทำงานในหน้าที่ผู้บริหารแผนได้เต็มที่ เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยบรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องรอการตัดสินใจของบอร์ด

อย่างไรก็ตามหลังจากบอร์ดพิจารณารับทราบแผนฟื้นฟูแล้วจากนี้จะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยจะดำเนินการรวมกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) และ สหกรณ์ออมทรัพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด

ทั้งนี้ตามขั้นตอนการดำเนินตามแผนฟื้นฟูนั้นมีระยะเวลา 5 ปี และสามารถต่อได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี ดังนั้นตนจะพยายามบริหารแผนฟื้นฟูให้สำเร็จก่อน 5 ปี และก่อนที่จะออกจากแผนฟื้นฟูการบินไทย 2 ปี จะต้องทำมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยอมรับว่าการบินไทยต้องการเงินใหม่เข้ามาเสริมสภาพคล่องการบินไทยอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันกระแสเงินสด (Cash Flow) ที่เหลืออยู่จำนวนไม่มากคาดว่าจะใช้ได้แค่ถึงสิ้นปีนี้

โดยการบินไทยต้องการเงินราว 50,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงินเอกชนและรัฐบาล ส่วนจำนวนเงินที่ต้องการใช้ก็จะเป็นไปตามแผน คือ 25,000 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ และอีก 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงินเอกชน โดยจะใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ค้ำประกัน เพื่อใช้สำหรับเสริมสภาพคล่อง เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชดเชยให้กับพนักงานตามการปรับโครงสร้างใหม่

นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์  การบินไทย กล่าวว่า การบินไทย จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุริกจตามกลยุทธ์ด้านรายได้ ใน 4 ด้าน คือ 1.เร่งปรับรูปแบบอัตราค่าโดยสาร และทีมขายใหม่ให้ยืดหยุ่น 2.เร่งหารายได้เสริม ด้านที่นั่ง กระเป๋าสัมภาระ 3.ทำการขาย และการตลาดผ่านระบบดิจิทัล ผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ทั้งการจองตั๋ว จ่ายเงิน เปลี่ยนวันเดินทางและการขอคืนเงิน และ 4.นำระบบติจิทัลมาใช้ในบริการขนส่งสินค้า (คาร์โก้)

สำหรับแผนฟื้นฟูมีมูลค่าราว 56,000 ล้านบาท และการบินไทยได้มีการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูไปแล้วมีความคืบหน้า 45% คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,700 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 เท่ากับว่าสามารถลดต้นทุนไปแล้ว 25,700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือของการดำเนินการตามแผนก็มีเป้าหมาย เพิ่มรายได้ 15% และลดต้นทุนเพิ่มอีก 15%

อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเริ่มนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) โดยในไตรมาส 3-4/2564 การบินไทยจะเปิดให้บริการเส้นทางบินยุโรป 5 เส้นทาง ประกอบด้วยกรุงเทพฯ-ลอนดอน, กรุงเทพฯ-โคเปนเฮเกน,กรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต, กรุงเทพฯ-ปารีส และกรุงเทพฯ-ซูริก นอกจากนี้หากสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลายก็มีแผนจะเปิดเที่ยวบินตรงจากเดลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้บินตรงสู่ จ.ภูเก็ต ส่วนสายการบินไทยสมายล์ ที่จะบินตรงเข้าภูเก็ต มีแผนจะบินตรงจากฮ่องกง และสิงคโปร์ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับการบินไทย

ทั้งนี้จากการเปิดให้บริการเส้นทางบินคาดว่าจะส่งผลให้ไตรมาส 3/2564 มีเที่ยวบินจะดีขึ้นอยู่ในระดับ 35% และไตรมาส 4/2564 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 40% ซึ่งก็จะส่งผลให้มีรายได้เข้ามามากกว่าในไตรมาส 1-2/2564 และในปี 2565 หากไม่เกิดผลกระทบอะไร หรือสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็มั่นใจว่ารายได้จะกลับมาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2568 คาดว่าการบินไทยจะกลับมาเปิดเที่ยวบินได้ในระดับ 85% แต่ยังไม่เต็ม 100% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้มีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ