ผู้ชมทั้งหมด 787
การบินไทย ลุ้น!!! เจ้าหนี้โหวตรับฟื้นฟูพรุ่งนี้ หากเจ้าหนี้ลงมติไม่เห็นชอบแผนการบินไทยจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ขณะที่ทอท.ในฐานะเจ้าหนี้ให้ชี้แจงในบางข้อยังไม่ชัดเจนหวั่นขัดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ในวันพรุ่งนี้ หรือ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น. ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญตามกฎหมาย หากเจ้าหนี้ลงมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯในสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนด การบินไทยจะสามารถดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่หากเจ้าหนี้ลงมติไม่เห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทยจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือให้ผู้ทำแผนให้เจ้าหนี้จัดทำแผนแทนหากไม่ได้รับความเห็นชอบ
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) กล่าวว่า กรณีที่การบินไทยจะมีการประชุม เพื่อพิจารณาลงมติรับแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นั้นทาง ทอท.เสนอให้ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูชี้แจงในรายละเอียดบางข้อที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าขัดต่อกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งการพิจารณาจะลงลงมติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในบางข้อมีความชัดเจน และได้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการประชุมในวันพรุ่งนี้จะเป็นนายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) ทอท.เป็นผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาลงมติ
“การจะลงมติรับแผนฟื้นฟูหรือไม่รับแผนนั้น อยู่บนพื้นฐานว่า เจ้าหนี้แต่ละรายจะเชื่อว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไรที่จะประสบความสำเร็จ สำหรับ ทอท. แล้ว หากการดำเนินการไม่ขัดต่อกระบวนการทางกฎหมายก็เชื่อว่าแผนฟื้นฟูของการบินไทยจะได้รับการโหวตให้ผ่าน”นายนิตินัย กล่าว
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรการบิน เปิดเผยว่า ประเด็นที่ ทอท. เสนอขอให้ผู้ทำแผนฯ ชี้แจงในรายละเอียดประกอบด้วย 4 เรื่องหลัง ดังนี้ 1.การสร้างรายได้และการลดต้นทุนจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Flight Business) คณะกรรมการ (บอร์ด ทอท.) มองว่ายังไม่มีความชัดเจนหลายเรื่อง ได้แก่ การกำหนดจำนวนและประเภทของเครื่องบิน, เครือข่ายเส้นทางการบินที่ใช้ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (Hub), การวิเคราะห์และการจัดตารางการบิน (SLOT) เพื่อปรับเครือข่ายเส้นทางการบินความถี่ และจำนวนเที่ยวบิน รวมไปถึงการทำแผนการตลาดที่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันและแนวโน้มอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการทรัพยากร เช่น หลุมจอด เค้าน์เตอร์เช็คอิน เป็นต้น ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
2.การพัฒนาธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Fight Business) มีกรอบระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ชัดเจน ซึ่งบอร์ด ทอท. เสนอว่าแผนฯควรมีการกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่ารัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ให้ชัดเจน ซึ่งได้แก่ กิจการครัวการบิน คลังสินค้า อุปกรณ์บริการภาคพื้น และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการให้บริการด้านผู้โดยสาร (Passenger Handling Service) โดยจำเป็นจะต้องระบุระยะเวลาและขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการเจรจาต่อรองสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าของ การบินไทย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
3.การพิจารณากำหนดต้นทุนการดำเนินงานด้านการบินของ การบินไทย ภายใต้อัตราค่าภาระของแต่ละท่าอากาศยาน เช่น ค่าบริการในการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) เป็นต้น จะต้องให้มีความเท่าเทียมกันกับสายการบินอื่น ๆ โดยต้องเป็นไปตามหลักสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO)
4.การปรับลดระยะเวลาปลอดหนี้ (Grace Period) ลง 1 ปี บอร์ด ทอท.มองว่าควร แก้ไขเป็นชำระหนี้เป็นรายครึ่งปี โดยเริ่มรับชำระเงินต้นทุก ๆ ครึ่งปี งวดละ 25% โดยเริ่มชำระงวดแรกในครึ่งปีหลังของปีที่ 2 ของแผนพื้นฟูฯ และได้รับชำระเงินตันครบในครึ่งปีแรกของปีที่ 4 และค่าปรับจะได้รับ 100% ในครึ่งปีของปีที่ 4