ผู้ชมทั้งหมด 1,433
ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) หลายบริษัทด้านพลังงานเริ่มขยับตัวลงทุนในธุรกิจ EV มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตหลังจากรัฐบาลประกาศสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 (EV 3.5) ในช่วงเวลา 4 ปี (67-70) เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 67 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัว
กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานของไทยเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เริ่มลงทุนในธุรกิจ EV โดยล่าสุดเปิดโรงงานและเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ณ สวนอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค 2 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดย เอ็นวี โกชั่น เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และ บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด (Gotion) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ ด้วยทุนจดทะเบียนมากกว่า 600 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
สำหรับโรงงานผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ในเฟสแรกนั้นเริ่มต้นด้วยกำลังการผลิต 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และได้เริ่มทยอยส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดได้ทันทีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 รองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ประมาณ 2 หมื่นคัน และคาดว่าจะกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 4 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีในปี 2567 โดยในอนาคตเอ็นวี โกชั่น ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 8 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากโรงงานผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด แล้วกลุ่มปตท.ยังมีโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานภายใต้แบรนด์ G-Cell ภายใต้บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) ที่ร่วมลงทุนกันระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จํากัด (ARUN PLUS) ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถือหุ้นสัดส่วน 49% ภายใต้ทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท
หน่วยกักเก็บพลังงานภายใต้แบรนด์ G-Cell นั้นใช้เทคโนโลยี SemiSolid เรียกได้ว่าเป็นโรงงานที่ผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นโรงงานนำร่อง ซึ่งมีการผลิตจำหน่ายและทดลองใช้ในกลุ่มบริษัท ปตท. แล้วในปัจจุบัน
นอกจากนี้ NUOVO PLUS ยังได้เข้าไปถือหุ้นบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technologies จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศจีน สัดส่วน 11.1% ของ Equity Interest ทั้งหมดของ AXXIVA เพื่อเป็น Strategic Investment ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ โดยโรงงานแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีการผลิตจาก 24M
พร้อมกันนี้ “อรุณ พลัส” ยังได้ร่วมกับบริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Ltd หรือ CATL ตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่แบบ cell to pack อีกแห่งหนึ่งภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งนี้พร้อมเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี
การรุกธุรกิจ EV แบบครบวงจรกลุ่มปตท. ยังได้ลงทุนในธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง ARUN PLUS และ Hon Hai Technology Group (Foxconn) จัดตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบนพื้นที่ 313 ไร่บนพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ชลบุรี โดยการก่อสร้างโรงงานคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมผลิต EV สู่ตลาดภายในปี 2567 ในระยะแรกหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จเริ่มการผลิตที่ 50,000 คันต่อปี และจะขยายเป็น 150,000 คันต่อปีในปี 2573
ส่วนการลงทุนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการภายใต้ ARUN PLUS นั้นได้ขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า on-ion (ออน-ไอออน) ด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ (AC Charger) และเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสตรง (DC Charger) โดยกลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ on-ion ให้ทั่วประเทศภายในปี 2567 จากสิ้นปี 2566 ARUN PLUS ขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ on-ion ไปแล้ว 66 แห่ง อย่างไรก็ตามการลงทุนขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของกลุ่มปตท. นั้นยังมีการขยายภายใต้บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งปัจจุบันมีการขยายไปแล้วกว่า 599 แห่ง 1,832 หัวชาร์จ แบ่งเป็น DC 1,132 หัวชาร์จ AC 700 หัวชาร์จ
การขยายการลงทุนของกลุ่มปตท.ในธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ที่รองรับทั้งรถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) นั้นเป็นไปตามทิศทางกลยุทธ์การลงทุนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตของกลุ่มปตท. เพื่อเร่งสร้าง Energy Storage and EV Value Chain ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ