“กลุ่ม ปตท.” ชวนรู้จัก “CCS” กลไกฝ่าวิกฤต “โลกร้อน”

ผู้ชมทั้งหมด 249 

สภาวะโลกร้อน (Global Warming) กำลังเป็นกระแสที่ทุกประเทศทั่วโลกให้สำคัญและตระหนักถึงผลกระทบที่จะส่งต่อสู่มวลมนุษย์ในอนาคตและยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่เร่งรีบวางแผนเพื่อรับมืออาจสร้างความเสียหายต่อประชากรโลกอย่างประมาณการได้ยาก

สภาวะโลกร้อน หมายถึง การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากผลของภาวะเรือนกระจก หรือ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Greenhouse Effect ที่มีสาเหตุมาจากการที่มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ เช่น การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น หากไม่สามารถรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส (เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) ได้ จะเกิดคลื่นความร้อนสุดขั้ว และกลายเป็นความปกติใหม่ในช่วงฤดูร้อนของหลายๆประเทศที่อยู่ในเขตร้อน ซึ่งโดยทั่วไปมีอากาศที่ร้อนอยู่แล้ว ฉะนั้นหากอุณภูมิเพิ่มขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส ประชากรจะอาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนไม่ได้เลย และจะเผชิญกับผลกระทบรุนแรง

กำเนิด COP เวทีลดโลกร้อน 

ปัญหาโลกร้อน เป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญมายาวนาน และย้อนไปกว่า 30 ปีก่อน ประชาคมโลก มีความพยายามร่วมกันในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ผ่านการลงนามภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อปี 2535 ก่อนที่กรอบอนุสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้ในปี 2537 จากนั้นในปี 2538 การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ (Conference of Parties: COP) เกิดขึ้นเป็นสมัยแรก และประเทศต่างๆ ได้หารือกันผ่านเวทีการประชุมดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน COP28

การเจรจาภายใต้ COP ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในเวที COP21 ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยภาคีทั่วโลกเห็นตรงกันและลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) กำหนดเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส (°C) เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 °C จากยุคก่อนอุตสาหกรรม

ขณะที่ ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามความตกลงปารีส (COP21) ดังกล่าวด้วย และปัจจุบัน ได้อยู่ภายใต้เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้เสนอไว้กับประชาคมโลก (National Determined Contribution – NDC) โดยภายในปี 2573 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20 – 25%

ถัดมา เวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้น ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมยืนยันไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลก พร้อมประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality)  ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือน กระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ได้ในปี 2608 ถือเป็นการกำหนดหมุดหมายที่สำคัญของไทย

ความแตกต่างของ 2 เป้าหมาย (Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions)

ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หมายถึง การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไชด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ เท่ากับ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดชับกลับคืนมา ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นต้นในการปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ 3 กลไก ได้แก่

1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นทาง โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

2.ดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ หากเราปล่อยไปเท่าไหร่ ก็ต้องดูดกลับมาในปริมาณที่เท่ากัน แต่การดูดกลับในที่นี้ อาจเป็นการดูดกลับโดยวิธีการปลูกป่า อนุรักษ์ป่าไม้ ลดการตัดไม้ เป็นต้น

3.ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) ที่หน่วยงาน/ประเทศอื่นช่วยดูดซับให้ ซึ่งเป็นกรณีที่เรายังไม่สามารถดูดกลับก๊าซคาร์บอนได้เองทั้งหมด จึงต้องชดเชยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต

ส่วน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) หมายถึง การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สมดุลกับ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) ก๊าซมีเทน (CH4) และ ไนตรัสออกไซด์ (N2O) โดยมี 3 หลักการสำคัญ ได้แก่

1️.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด หรือไม่ปล่อยก๊าซดังกล่าวเลย

2️.หากยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ ผู้ปล่อยก๊าซต้องดูดกลับได้เองทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น CCUS

3️.ไม่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เนื่องจาก ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องดูดซับได้เองทั้งหมด

ทั้ง ภาคพลังงานของไทย ได้กำหนดมาตรการที่ช่วยรับมือกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน การลดใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า การประยุกต์ใช้ CCS และ CCUS การใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

รู้จัก “CCS” เทคโนโลยีช่วยลดโลกร้อน

“CCS” (ซีซีเอส) ย่อมาจาก Carbon Capture and Storage หรือ โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เริ่มจากการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Capture) ที่จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า รวมถึง ภาคการขนส่ง (Transportation)  โดย CO2 ที่ถูกดักจับได้จะถูกปรับความดันให้เหมาะสมสำหรับการขนส่งไปยังแหล่งกักเก็บ (Storage) ทั้งบนฝั่ง (Onshore) หรือ นอกชายฝั่ง (Offshore) ในชั้นหินทางธรณีวิทยาไว้อย่างปลอดภัย

ประเภทของการกักเก็บ CO2

กักเก็บ CO2  ถูกแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ชั้นหินอุ้มน้ำเค็มใต้ดิน (Sealine Aquifers) 2.ชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมที่ผลิตไปแล้ว (Depleted Reservoirs) และ 3.เพิ่มอัตราการผลิตด้วยการอัดกลับของ CO2 (CO2 for EOR) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยในการผลิตน้ำมันขึ้นมาจากหลุม หลังจากที่ได้มีการผลิตตามธรรมชาติแล้ว

ความปลอดภัยของ Offshore CCS

โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกชายฝั่ง (Offshore CCS) จะดำเนินการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย ชั้นหินที่ใช้กักเก็บ CO2 ต้องมีความลึกอย่างน้อย 800 เมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 1,000-3,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่ห่างไกลจากผู้คน และการปิดผนึกชั้นหินกักเก็บ CO2 จะถูกขนาบด้วยชั้นหินหนาผนึกแน่นจนไม่สามารถซึมผ่านได้ (shales and mudstones) เหมือนกับชั้นหินที่กักเก็บน้ำมันและก๊าซไว้ใต้ดินเป็นเวลาหลายล้านปี

โดย CCS เป็นกระบวนการย้อนกลับของกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เป็นการรวบรวม CO2 ซึ่งเป็นสารพลอยได้จากการผลิต อัดกลับไปกักเก็บในชั้นหินใต้ดิน อันเป็นแหล่งกำเนิดของ CO2 ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการทดสอบแล้ว และมีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ

และ เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี CO2 จะกลายสภาพเป็นของแข็งที่เสถียรและปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีการติดตามตรวจสอบตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ MMV Program (Monitoring, Measurement and Verification) โดยจะติดตามการรั่วไหล 3 ระดับ คือ แหล่งกักเก็บใต้พื้นดิน, ชั้นใกล้ผิวดิน และชั้นบรรยากาศ

ความจำเป็นของเทคโนโลยี CCS 

การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ได้รับการยืนยันจากหลายประเทศแล้วว่า มีประสิทธิภาพสูง โดยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้นำไปใช้ และต่างยอมรับว่าเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และสามารถนำไปใช้ บริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากได้ ที่สำคัญเหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก

โดยจากข้อมูลของ The United Nations’ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้รายงานถึงความสำคัญของ CCS ในการบรรลุเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ให้อยู่ระหว่าง 1.5 – 2 องศาเซลเซียส

ขณะที่ The International Energy Agency (IEA) รายงานว่า CCS มีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้า และกระบวนการอุตสาหกรรม (เช่น การแยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า และเคมีภัณฑ์)

รวมถึง ประเทศไทย มีเป้าหมายในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก CCS ให้ได้ประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2050 และเพิ่มเป็น 60 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2065

นอกจากนี้ จากข้อมูลยังพบว่า CCS ยังเป็นหนึ่งในกลไกช่วยลดความเสี่ยงจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และการดำเนินงานพัฒนา โครงการ CCS ยังช่วยส่งเสริมการจ้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เทคโนโลยี CCS จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะนับวันจะมีบทบาททวีคูณมากขึ้น เมื่อทั่วโลกต่างให้การยอมรับในประโยชน์ของ CCS ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ทุกประเทศมุ่งนำมาใช้รวมกับมาตรการต่างๆ ในการลดปัญหา “สภาวะโลกร้อน”

กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT Group  หน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ของไทย ตระหนักถึงบทบาทของเทคโนโลยี CCS เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายของบริษัท ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและของประเทศ ให้บรรลุหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality)  ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ได้ในปี 2608