ผู้ชมทั้งหมด 182
“กลุ่มแอร์เอเชีย” รับเครื่องบินแอร์บัส A321neo ใหม่ 4 ลำ ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระบุสัญญาณธุรกิจฟื้นตัวแล้ว ขณะที่ กพท.จ่อเจรจาเพิ่มสิทธิการบินอีกหลายประเทศ พร้อมหาทางช่วยสายการบินลดต้นทุน และปรับปรุงขั้นตอนการนำเครื่องบินเข้าประเทศให้ง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ณ ห้อง Auditorium ชั้น 3 แอร์เอเชียอะคาเดมี สายการบินแอร์เอเชีย จัดแถลงข่าวแผนการเติบโตขยายฝูงบินและแนะนำฝูงบินแอร์บัส A321neo โดยเป็นรูปแบบการจัดงานพร้อมกัน 2 ประเทศคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยในส่วนของไทยมีนายสันติสุข คล่องใช้ยาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพนักงานของแอร์เอเชีย เข้าร่วม
นายโบ ลินกัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชียเอวิเอชั่น กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่สำคัญสำหรับการเติบโตของแอร์เอเชีย โดยเริ่มกลับมารับมอบเครื่องบิน Airbus A321neo อีกครั้ง สอดคล้องกับความต้องการเดินทางที่คาดการณ์ไว้อย่างแข็งแกร่ง เครื่องบินรุ่นใหม่นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้เราสามารถขยายเส้นทางบิน นำเสนอบริการเที่ยวบินระยะไกล และปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซึ่งในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เราได้รับมอบเครื่องบิน Airbus A321neo ใหม่ล่าสุดจำนวน 4 ลำ สำหรับแอร์เอเชีย มาเลเซีย 2 ลำ และไทยแอร์เอเชีย 2 ลำ ทำให้กลุ่มแอร์เอเชีย(แอร์เอเชียมาเลเซีย, ไทยแอร์เอเชีย, แอร์เอเชียอินโดนีเซีย, แอร์เอเชียฟิลิปปินส์ และ แอร์เอเชียกัมพูชา) มีเครื่องบินรวมกับ A320 เพิ่มขึ้นเป็น 221 ลำ โดยเครื่องบิน A321neo ใหม่ทั้ง 4 ลำ และพร้อมให้บริการทันทีในสายการบินกลุ่มแอร์เอเชีย โดยให้ความยืดหยุ่นมากขึ้นในเส้นทางบินระยะสั้นถึงกลาง เช่น กูชิง ตาวา เซินเจิ้น คุนหมิง ภูเก็ตกระบี่ เชียงใหม่ และอื่นๆ
อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งแรกของปี 67 AirAsia ได้เปิดเส้นทางบินใหม่ 20 เส้นทางทั่วกลุ่ม และยังจะเจาะตลาดไปที่จีนและอินเดีย โดยให้บริการกว่า 130 จุดหมายปลายทาง และรองรับผู้โดยสารกว่า 31 ล้านคน โดยรักษาอัตราการบรรทุกผู้โดยสารไว้ได้ที่ระดับ 90% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งของสายการบิน ทั้งนี้เครื่องบินใหม่นี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับบริการต่อเที่ยวบิน (Fly-thru) ของเราที่เป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเครือข่าย โดยเสริมบริการเที่ยวบินตรงของเราที่เชื่อมต่อผู้โดยสารของเราไปยังจุดหมายปลายทางที่มีเอกลักษณ์และไม่ค่อยมีใครสำรวจทั่วโลกได้อย่างคุ้มค่า ในปีนี้ผู้โดยสารที่ใช้บริการ Fly-Thru ของแอร์เอเชีย เพิ่มขึ้นถึง 18% และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ภายในปี 68
“คาดการณ์ว่าฝูงบินของเราจะมากกว่า 300 ลำภายใน 5 ปีข้างหน้า สามารถรองรับผู้โดยสารกว่า 100 ล้านคนต่อปีการเติบโตนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของแอร์เอเชีย ในฐานะผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัดแบบบเส้นทางการบินรายแรกของโลก โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงอาเซียนกับทั่วโลก”นายโบ ลินกัม กล่าว
จากนั้นภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ”ฝูงบินแห่งอนาคตเสริมแกร่งยุทธศาสตร์สู่การเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยนายสันติสุข กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่เรารับเครื่องบินใหม่ป้ายแดงจากแอร์บัสโดยตรงจากโรงงาน และการรับเครื่อง 4 ลำในครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณว่าธุรกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาในทิศทางที่ถูกต้อง และจากนี้ไปเรามีเป้าหมายที่จะรับมอบเครื่องบิน Airbus A321neo ใหม่ทุกปีๆละ4-5 ลำในช่วงเวลา 5 ปี เพื่อเป็นฝูงบินแห่งอนาคต เนื่องจากช่วยต่อยอดธุรกิจ ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เบื้องต้นเครื่องที่รับเข้ามาใหม่จะนำไปใช้ในเส้นทางที่มีปัญหาการเพิ่มสลอตไม่ได้ก็จะใช้การเพิ่มจำนวนที่นั่งแทน เช่น อินเดีย ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคตยังมีออฟชั่นที่จะพัฒนาเป็นเครื่อง XLR โดยการเพิ่มถังน้ำมันเพื่อให้สามารถบินได้ไกลขึ้นในเส้นทางใหม่ที่ยังไปไม่ถึง เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลาง หรือ ออสเตรเลียเป็นต้น
นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) กล่าวว่า ทดม.มีความสามารถรองรับผู้โดรสารทั้งหมด 30 ล้านคนต่อปี ขณะนี้ผู้โดยสารภายในประเทศกลับมา 100% แล้ว ส่วนผู้โดยสารต่างประเทศประมาณ 80% ซึ่งในช่วงโลซีซั่นทดม.มีผู้โดยสารใช้บริการที่ทดม.ประมาณ 8 หมื่นคนต่อวัน มีจำนวนเที่ยวบิน 560 เที่ยวบินต่อวัน และเตรียมพร้อมรอบรับช่วงไฮซีซั่น คาดว่าจะมีผู้โดยประมาณ 1 แสนคนต่อวัน มีจำนวนเที่ยวบิน600 เที่ยวบินต่อวัน
ด้านนายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กพท.เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น กพท.จึงเตรียมปรับปรุงขั้นตอนต่างๆในการนำเครื่องเข้าประเทศให้ง่ายขึ้น และในอนาคตอาจมีการปรับแก้กฎหมายบางข้อเพื่อให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงเตรียมเจรจาขอเพิ่มสิทธิการบินในหลายประเทศ เช่น กลุ่มประเทศในอาเซียนติมอร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันกพท.ยังอยู่ระหว่างการผลักดันการลดต้นทุนของสายการบิน โดยทำงานร่วมกับสมาคมสายการบินและหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้มีแนวทางเกิดขึ้นอย่างชัดเจน