ผู้ชมทั้งหมด 555
“สุพัฒนพงษ์” กางโรดแมปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานกว่า 50% ลั่นพร้อมดึงต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในไทย หนุนยอดขอ BOI ทะลุ 1 ล้านล้านบาท ด้าน ปตท. วางงบ 30% รองรับลงทุนธุรกิจใหม่ ดันEBITDT แตะ 30%ในปี 2573 หวังผนึก “ฟ็อกซ์คอนน์” ต่อยอดลงทุนสร้างแพลตฟอร์มผลิตรถอีวี สู่สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดงาน PTT Group Tech & Innovation Day ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Beyond Tomorrow : นวัตกรรม นำอนาคต” โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีพลังงานจากการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม(ฟอสซิล) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประเทศไทย จำเป็นต้องดำเนินการตามกติกาของโลก โดยวางโรดแมป การมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 ภายใต้การดำเนินงานใน 6 แผนงาน ประกอบด้วย 1.ภาคไฟฟ้า จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์ ลม ให้มากกว่า 50% ภายในปี 2586 (ค.ศ.2043) 2. ภาคขนส่ง มุ่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ตามนโยบาย 30@30 และการลงทุนในสถานีอัดประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่ 3.ภาคอุตสาหกรรม อาคาร ที่อยู่อาศัย จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงาน ลดความเข้มการใช้พลังงาน 40% ในปี 2593 (ค.ศ.2050) 4. การลดนอกเหนือจากภาคพลังงาน(กระบวนการอุตสาหกรรม เกษตร ของเสีย) 5. ปลูกป่า และ6. ส่งเสริมมาตรการและเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS)
“เชื่อว่าจากโรดแมปดังกล่าว ประเทศไทยอาจไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าแผน โดยเฉพาะหากมี CCUS เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ กฟผ. ก็เข้าไปดูพื้นที่เหมืองแม่เมาะ ร่วมกับ ปตท.สผ. เพื่อพัฒนาเป็น CCUS และก็ดูพื้นที่ในอ่าวไทย ขณะเดียวกัน กลุ่มปตท.เอง ก็ได้ไปจัดวางพอร์ตลงทุนสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ด้วย ฉะนั้นไทยจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ปตท.อาจจะมีความกังวลเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจากฟอสซิล ไปสู่พลังงานสะอาด แต่หาก ปตท.ปรับตัวได้ทันผันไปสู่การลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตวกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น ก็จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ปตท.ก็มีการปรับตัวเข้าไปศึกษาและแสวงหาโอกาสการลงทุนด้านพลังงานใหม่ร่วมกับพัฒนมิตร และวันนี้ สิ่งที่ปตท.ได้ดำเนินการไว้กำลังจะออกดอกและผลให้กับ ปตท.ในอนาคต และจะเกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาล ได้เตรียมความพร้อมส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดทั้งการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,000-10,000 เมกะวัตต์ ส่งเสริมการตั้งฐานผลิตรถอีวี แบตเตอรี่ และที่สำคัญแม้ว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์แต่ในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศ 30% แต่จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทำให้ผู้ผลิตลังเลและตั้งสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่วันนี้ประเทศจะดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลับมา ขระเดียวกันกลุ่มปตท.ก็มีการลงทุนในด้านนี้ด้วย ก็เชื่อว่าจะกลายเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคต
“วันนี้ ทุกคนจะหันกลับมาประเทศไทยแล้ว และยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ล่าสุดปี2565 อยู่ที่ระดับ 6.6 แสนล้านบาท ถือเป็นทิศทางการลงทุนที่ดีมาก ซึ่งในอดีตยอดขอ BOI เคยไปแตะ 1 ล้านล้านบาท ฉะนั้น ถ้าไทยสร้างฐานดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนก็จะไปแตะ 1 ล้านล้านบาทได้ ก็จะเป็นผลพวงให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้”
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และยุคเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งสอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจให้นำนวัตกรรมมาใช้ โดย ปตท.ก็ได้มีการส่งเสริม Future Energy พลังงานอนาคต Future Mobility การขับเคลื่อนยานยนต์แห่งอนาคต Health ผ่านธุรกิจ Life Science ทั้งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยีการรักษา และการป้องกันโรค AI และ Robotic โลจิสติกส์ และดีคาร์บอน และ Innovation Ecosystem ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้ ปตท.เข้มแข็ง แต่ยังทำให้ประเทศพัฒนามากขึ้น และนำไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักการมีรายได้ปานกลาง
“10 ปีข้างหน้าพอร์ตธุรกิจของปตท.จะเปลี่ยนสู่ธุรกิจใหม่และสินค้าคาร์บอนต่ำมากกว่า30% และมีสัดส่วนEBITDT จากธุรกิจใหม่แตะ 30% หลังจากได้ใส่งบลงทุนด้านธุรกิจใหม่เข้าไป 30% ของงบลงทุนปตท.”
ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจใหม่ของ ปตท.ที่มีความคืบหน้า ได้แก่ การลงทุนของ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัทอรุณ พลัส จำกัด (บริษัทลูก ปตท.) กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (ฟ็อกซ์คอนน์) ในการจัดตั้งโรงงานพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตรถอีวี มูลค่าลงทุน 37,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มส่งมอบการผลิตในปี 2567 เบื้องต้นจะมีกำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี อีกทั้ง โรงงานแห่งนี้ในอนาคตยังมีโอกาสต่อยอดไปสู่การลงทุนสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมถึงต่อยอดไปสู่ธุรกิจแบตเตอรี่ได้
ส่วนการลงทุนของบริษัท อินโนบิก(เอเซีย) จำกัด หลังจากเข้าไปลงทุนใน บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical Co., Ltd. : Lotus Pharmaceutical) บริษัทผู้ผลิตยาสามัญชั้นนำจากไต้หวัน ซึ่งมียอดขาย 2,000 ล้าน และมีกำไร 1,500 ล้าน ซึ่งอินโนบิกฯ ก็รับรู้สะท้อนผ่านผลประกอบการเกือบ 40% ทำใหงบการเงินเมื่อปี2565 เป็นบวก จากนั้นก็มีแผนที่จะขยายการลงทุนลงไปสู่เรื่องของDNA
ด้าน AI และ Robotics ก็พยายามทำให้ซัพพอร์ตการทำงานเดิม และต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ เช่น อีวีที่ขับเคลื่อนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และต่อไปจะเป็นเรื่องของอัตโนมัติก็จะเป็นการใช้ฐานจาก AI, Robotics รวมถึง อากาศยานยนต์ไร้คนขับ(โดรน) ของ ปตท.สผ. ก็เริ่มดำเนินธุรกิจเข้าไปสำรวจท่อก๊าซฯ หรือ โดรนเพื่อการเกษตร รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ ในส่วนของโลจีสติกส์ก็พยายามจะขับเคลื่อนการเชื่อมระหว่างรถไฟขึ้นไปบนบก และอากาศ เรื่องของแอร์คาร์โก้ และเรื่องของท่าเรือ ซึ่ง กลุ่มปตท.ก็มีการลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง เฟส3 ก็พยายามเชื่อมโยงให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจีสติกส์ และเชื่อว่าโลจีสติกส์ในอนาคตจะอยู่บนฐานสมาร์ทโลจีสติกส์ที่จะต้องนำเรื่องของดาต้าเข้ามาเชื่อมโยงฐานข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจเดิม ก็มีการลงทุนเพื่อไปสู่การประหยัดพลังงาน หรือ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น ปตท.ก็มีปีการ “ ปรับ เปลี่ยน ปลูก” ที่มีทั้งการปรับโรงงานเก่าเป็นโรงงานใหม่ มีการปลูกป่าเพิ่ม และใช้ Data Analytic ทำให้ตัว Value Chain และ Supply Chain เป็นตัวเดียวกันตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำไปถึงธุรกิจปลายน้ำ
ด้านบริษัท GPSC ก็ได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัทในเดนมาร์ก พัฒนาพลังงานลมทั้งในไต้หวันและที่ยื่นลงทุนในประเทศไทย และยังมีการลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่อินเดีย
นอกจากนี้ GC ยังมีการลงทุนเรื่อง smart material ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการใชฟอสซิล โดยใช้ไบโอพลาสติกเข้ามาทดแทน
ส่วน IRPC ก็พัฒนาการใช้เม็ดพลาสติก ไปสู่โพลิเมอร์ เช่น การจับมือกับ อินโนบิกฯ ลงทุนในโครงการ Innopolymed ที่ผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (Medical Consumables) รวมถึงยังทำเรื่องของ 3D Printing ในส่วนของอุปกรณ์ทางการแพทย์ แม้วันนี้จะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่ก็เริ่มทดลองใช้กับนักศึกษแพทย์ใช้ในห้องผ่าตัดได้
ขณะที่ ปตท.สผ.ชัดเจนธุรกิจยังอยู่บนฐานของความต้องการใช้พลังงานทั้งก๊าซฯและน้ำมัน แต่ก็หันไปทำเรื่องของธุรกิจกักเก็บพลังงาน (CCUS) และไทยออยล์ ก็มีธุรกิจใหม่ที่นอกเรื่องจากโรงกลั่น ด้าน OR ก็ไปสู่เรื่องสมาร์ทรีเทล และพีทีที ดิจิตอล เมื่อก่อนจะพัฒนาเทคโนโลยีช่วยเหลือในกลุ่มปตท. แต่ปัจจุบันได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยเหลือSME
“ก็เป็นภาพว่าธุรกิจใหม่ก็เดินไป ส่วนธุรกิจเดิมก็ปรับตัวไปสู่เรื่องของคาร์บอนต่ำ ที่สำคัญอาจจะต่อยอดจากการใช้ EECi เป็นฐานนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือ SME และบริษัทในไทยเติบโตไปด้วยกัน เพราะนโยบายของปตท.เราไม่ทำอะไรคนเดียว ถ้าเราช่วยกันและวางโครงดีๆ เชื่อว่ามันจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน”
สำหรับงาน PTT Group Tech & Innovation Day ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 3 มี.ค. 66 เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญเพื่อแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยี และการลงทุนด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ตลอดจนสร้างการรับรู้ทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต และหาโอกาสต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ทั้งจากภายในกลุ่ม ปตท. และหน่วยงานภายนอก พร้อมทั้งผลักดันการสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานและเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
1.นิทรรศการ แสดงผลงานทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และธุรกิจใหม่จาก กลุ่ม ปตท. ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย Future Energy, Future Mobility, Life Science, AI, Robotics & Digitalization, Logistics & Infrastructure, Decarbonization และ Innovation Ecosystem ที่มีส่วนในการช่วยสร้างสรรค์และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์จากวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมจากระบบการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน
2.Tech Talk เวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด และเทรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรมที่น่าจับตาจากภาครัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายและผู้นำด้านนวัตกรรมกว่า 23 หัวข้อ
และ 3.Pitching Desk พื้นที่นำเสนอนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. กว่า 30 แบรนด์ ที่พร้อมให้นักลงทุนและผู้สนใจได้ร่วมพูดคุย ต่อยอดและขยายโอกาสการเติบโตสู่ธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงานไปด้วยกัน ตลอดจนจะได้พบกับสินค้านวัตกรรมที่พร้อมให้ช้อป ชิมจากกลุ่ม ปตท. อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจาก Innobic, น้ำเชื่อมหญ้าหวาน Natural Nxt, , อาหารโปรตีนจากพืช NRPT, ไอศกรีมกะทิสดแท้ Kathisod Station และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจาก MORE