“กลุ่มบางจาก” เดินหน้าตามเป้า Net Zero สนับสนุนเกาะหมากท่องเที่ยว Low Carbon

ผู้ชมทั้งหมด 1,213 

หลายประเทศได้ประกาศเป้าหมาย “Net Zero” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เพื่อร่วมบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ขณะที่ภาคเอกชนหลายบริษัทก็ได้ประกาศเป้าหมาย “Net Zero” กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่วางเป้าหมาย “Net Zero” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2050 ซึ่งได้เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยแผน BCP NET

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ กล่าวว่า วิกฤติโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ จากการไปเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2022 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องหลักๆ ที่ผู้นำระดับโลกหารือกันมีอยู่ 3 เรื่อง คือปัญหาด้านพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบที่จะตามมาคือการขาดแคลนอาหาร และภาวะเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ก็ยังมีการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่พลังงานสะอาด โดยมีปัจจัยสำคัญคือ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งกลุ่มบางจากฯ พร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยการกำหนดแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 ขององค์กร โดยเน้นกระบวนการที่จับต้องได้และสามารถหวังผลในระยะยาวดังนี้

B = Breakthrough Performance เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก การเปิดสถานีบริการ Net Zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น

C = Conserving Nature and Society  สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนจาก 2 ระบบนิเวศ ได้แก่ 1) ระบบนิเวศจากป่า (Green Carbon) เช่นโครงการปลูกป่ากับกรมป่าไม้ โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศ เช่น โครงการปลูกป่าในโรงไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น และ 2) ระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) จากแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

โครงการสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในแนวปะการังบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการประเมินคาร์บอนเครดิต โดยเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานต่างๆ ในหลากหลายมิติ เพื่อลดรอยเท้าคาร์บอนและลดการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม

P = Proactive Business Growth and Transition เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ ศึกษาเทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น Blue/Green Hydrogen เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือน้ำมันกรีนดีเซล Green Diesel เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ โดยในปัจจุบันสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ EBITDA ของกลุ่มบางจากฯ ซึ่งประมาณการว่าสัดส่วนธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 50% ในปี 2030

NET = Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดยบริษัท BFPL การให้บริการและจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การร่วมก่อตั้ง Syn Bio Consortium การสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กรผ่านโครงการรณรงค์ต่างๆ เช่น ‘Bangchak100x Climate Action ทุกคนช่วยได้

รวมไปถึงโครงการรณรงค์ลดขยะกับลูกค้าและผู้บริโภค เช่น ‘แก้วเพาะกล้า’ ‘รักษ์ ปัน สุข’ และ ‘ขยะกำพร้าสัญจร’ ฯลฯ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และสื่อสารกับผู้ที่มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ เช่นซัพพลายเออร์ นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (sustainable supply chain) โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตามภายใต้แผน BCP NET เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มบางจากสู่เป้าหมาย “Net Zero” ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตร ผสมผสานบ้านอ่าวนิด โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  ร่วมเป็นพยาน เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยโมเดล Bangchak WOW

ทั้งนี้เกาะหมากนั้นถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศในการร่วมบรรเทาภาวะวิกฤติของโลกด้านสภาพภูมิอากาศ  โดยการสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติจากหญ้าทะเลนี้ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปีที่แล้ว รายงานว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า 

นอกจากนี้ กลุ่มบางจากฯ ยังมีภารกิจอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ อาทิ การนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ทดลองใช้เพื่อศึกษาความเหมาะสมผ่าน อบต. เกาะหมาก รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่นถุงมือและเสื้อที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลมอบให้ทีมอาสาสมัคร Trash Heroes Koh Mak สำหรับเก็บขยะชายหาด และทีมงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิดใช้สำหรับกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลรวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมืออื่นๆ เช่น โรงเรียน Net Zero จากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นต้น