กลุ่มบางจาก กางแผน 8 ปี ทุ่มงบลงทุน 2 แสนล้านดันเป้า EBITDA 100,000 ลบ.

ผู้ชมทั้งหมด 497 

กลุ่มบางจาก ปรับยุทธศาสตร์องค์กรใหม่ วางแผน 8 (66-73) ทุ่มงบลงทุน 2 แสนล้าน ลุยลงทุนธุรกิจใหม่ มุ่งสู่ New S-Curve สร้างโรงกลั่นน้ำมันอากาศยานยั่งยืน ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ เล็งซื้อ กิจการแหล่งผลิตปิโตรเลียมเพิ่ม พร้อมวางเป้า EBITDA 1 แสนล้านในปี 73

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าบริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทบางจากได้ปรับแผนยุทธศาสตร์องค์กรใหม่เพื่อความยั่งยืนผ่านแนวคิด 3Rs – Refocus เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กันกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด Restructure การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า Reimagine การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท

ทั้งนี้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์องค์กรใหม่นั้นกลุ่มบางจากวางแผนการลงทุนในช่วง 8 ปี (2566-2573) โดยได้ตั้งงบลงทุน 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะเน้นการลงทุนธุรกิจใหม่มุ่งสู่ New S-Curve ภายใต้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยมีเป้าหมายแรกคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) บริษัทฯ จึงได้มีการปรับวิสัยทัศน์และพันธกิจองค์กร สู่วิสัยทัศน์ใหม่ และกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตจนถึงปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) สำหรับทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับแนวทางของแผนงาน BCP 316 NET เพื่อรองรับเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

แผนการลงทุนในช่วง 8 ปีของกลุ่มบางจากนั้นตั้งเป้าหมาย กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 1 แสนล้านบาท ในปี 2573 เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากฐาน EBITDA ในปี 2565 คาดว่าจะมี EBITDA ระดับ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มี EBITDA สูงถึง 3.7 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยรากฐานที่มั่นคง มีความยืดหยุ่นสูงจากศักยภาพในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปและการเติบโตจากการขยายธุรกิจในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามหากการลงทุนเป็นไปตามแผนจะส่งผลให้สัดส่วน EBITDA กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ในสัดส่วน 50% กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 18% และกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า 10% สัดส่วนที่เหลือ 22% เป็นกลุ่มธุรกิจการตลาด กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และธุรกิจใหม่ ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันมีสัดส่วน EBITDA อยู่ที่ 42% กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 36% กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า 14% กลุ่มธุรกิจการตลาด 7%  

ส่วนแผนการลงทุนในปี 2566 ตั้งงบลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท  แบ่งเป็นการลงทุนของ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ราว 3 หมื่นล้านบาท ลงทุนในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 6 พันล้านบาท กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อขยายการลงทุนทั้งใน OKEA ASA 5 พันล้านบาท สำหรับการลงทุนในกุล่มธุรกิจการตลาด 2 พันล้านบาท และลงทุนในธุรกิจใหม่ 1 พันล้านบาท

นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน BCP กล่าวว่า บางจากมุ่งต่อยอดการเติบโตจากศักยภาพใหม่ ๆ โดยนอกจากด้านการกลั่นและการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันยานยนต์และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Products Refinery) เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกยานยนต์เป็นกว่า 60% ภายใน พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ตามสำหรับการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ในขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี พร้อมเปิดเดินเครื่องและเริ่มจำหน่ายน้ำมัน SAF ได้ในปี 2568

นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด BCP กล่าวว่า บริษัทเร่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครบครัน เพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน โดยมุ่งมั่นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนทุกวัยภายใต้แนวคิด “YOUR” Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านการเติบโตจากธุรกิจ Non-Oil อย่าง อาหารและเครื่องดื่ม และ EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนความร่วมมือกับคู่ค้าและรายได้จากแฟรนไชส์ เพื่อขยายเครือข่ายสถานีบริการบางจาก โดยในปี 2565 มีเป้าหมายขยายเพิ่มเป็น 1,340 แห่ง ปี 2566 มีเป้าหมายขยายเพิ่มเป็น 1,410 แห่ง และในปี 2573 ด้วยเป้าหมาย 1,900 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศ

นายบัณฑิต หรรษาไพบูลย์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และบริหารความยั่งยืนกลุ่มบางจาก กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ บริษัทฯ มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานผ่านการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น มีเป้าหมายการผลิตมากกว่า 100,000 boepd (บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ภายในปี 2573 จากการดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศของนอร์เวย์ผ่านบริษัทฯ OKEA ASA ที่กลุ่มบริษัทบางจากเป็นผู้ถือหุ้นหลักในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายการลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในกลุ่มประเทศเอเชียอีกด้วย ซึ่งการลงทุนคาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2567 เพื่อผลักดันให้ปริมาณการผลิตเป็นไปตามเป้าหมายในปี 2573 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการดำเนินการแหล่งปิโตรเลียม OKEA ASA มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 17,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และคาดว่าในปี 2566 กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 22,000 – 25,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

สำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วน EBITDA กว่า 7 พันล้านบาทภายในปี 2573 จากธุรกิจที่กำลังพัฒนา อาทิ Winnonie ผู้นำแพลตฟอร์มให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และธุรกิจ New S-Curve ใหม่ ๆ เป็นต้น

นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้จัดการใหญ่ BCPG กล่าวว่า  สำหรับงบลงทุนในปี 2566 นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยวางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 3,600 GWh จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 1,100 GWh โดยยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีการลงทุนอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว เวียดนาม ไต้หวัน และมองหาโอกาสขยายลงทุนในประเทศใหม่เพิ่มเติม ส่วนในประเทศไทยที่มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 รวม 5,203 เมกะวัตต์ นั้นบริษัทฯ จะเสนอทั้งในรูปแบบการลงทุนด้วยตนเองในพื้นที่ของบางจาก และร่วมกับพันธมิตร

ส่วนเป้าหมายในปี 2573 ได้วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6,800 GWh โดยมีสัดส่วนหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจพลังงานสีเขียว ทั้งจากโครงการในประเทศอันเนื่องมาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022 ระหว่างปี พ.ศ. 2565-2580 หรือ ค.ศ. 2022-2037) และการเติบโตในต่างประเทศตามการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกสู่พลังงานสะอาด เสริมด้วยธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต เช่นธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน การให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน พลังงานรูปแบบใหม่และธุรกิจคาร์บอนต่ำอื่น ๆ

ขณะที่การลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่นั้นล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในต่างประเทศจำนวน 2 ราย เนื่องจากบริษัทมีสัญญารับซื้อแร่ลิเทียมประมาณ 6,000 ตันต่อปี ซึ่งจะต่อยอดเพื่อผลิตเป็นแบตเตอรี่สำหรับรถ EV โดยมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ EV ในประเทศไทยร่วมกับพันธมิตร ขนาด 0.80-1 กิกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะมีความชัดเจนด้านแผนลงทุนภายในปี 2566

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทฯ มีแผนลงทุนในด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่สำคัญประกอบด้วย ธุรกิจพัฒนาและรับจ้างผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือ Contract Development and Manufacturing Organization (CDMO) โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรจากยุโรป 2-3 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปี 2566 ในเบื้องต้นมีกรอบวงเงินลงทุนราว 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนต่อยอดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่างเช่นเชื้อเพลิงอากาศชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel -SAF) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน

อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ได้กำหนดแนวทางและเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจหลักกว่า 70% ของ EBITDA ในปี 2573 ให้มาจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง โดยเน้นการรุกขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology หรือ SynBio) เพื่อนำมาออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภคสอดรับกับเทรนด์ของโลก เช่น good health and well–being