ผู้ชมทั้งหมด 3,895
กระทรวงพลังงานได้ปรับตำแหน่งระดับผู้บริหาร 3 ตำแหน่งใหม่ล่าสุด ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องมาร่วมผลักดันแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) พลังงานในยุคดิจิทัลที่มุ่งสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2580 ซึ่งเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารระดับสั่งนโยบายต้องการผลักดันให้เกิด
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. (ตำแหน่งเลขที่ 2) และนายอนิรุทธิ์ ธนกรมนตรี รองผู้อำนวยการ สนพ. (ตำแหน่งเลขี่ 3) เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันเรื่องแผนพลังงานชาติ หลังจากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบกรอบการจัดทำแผนไปแล้ว โดยกำหนดเป้าหมายมุ่งสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2580
โดยมีทิศทางนโยบาย (Policy Direction) 5 ด้าน ได้แก่ (1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน (2) ลงทุนพลังงานสีเขียว (3) ดำเนินนโยบาย 4D1E เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคพลังงาน (4) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน (5)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะครอบคลุมการขับเคลื่อนพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากนี้ก็เป็นกำลังสำคัญในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ที่จะต้องคำนึงถึงการวางแผนจัดหาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) การวางแผนและดำเนินการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในระบบไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต สิ่งเหล่านี้จึงเป็นบทบาทสำคัญ และความท้าทายของรองผอ.สนพ.ทั้ง 2 ท่านที่ต้องร่วมมือกับนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สนพ. ช่วยกันผลักดันให้เป็นไปตามนโยบาย
ขณะที่นายวรากร พรหโมบล รองอธิบดี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จากเดิมตำแหน่งผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ซึ่งเคยทำหน้าที่ ผู้ช่วยเลขานุการและกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทการดำเนินงานภายใต้สัมปทานปิโตรเลียม ของกรมเชื้อเพลิงฯ ทำหน้าที่ประสาน กำกับดูแล กำหนดแนวทาง ท่าทีและทางเลือกของที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหา ระงับข้อพิพาทภายใต้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นหน้าที่ความรับผิดชอบย่อมสูงขึ้นด้วย
โดยจากประสบการณ์ทำงานด้านพลังงานมากว่า 26 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะดูงานที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมมาโดยตลอด จึงถูกคาดหมายให้ช่วยดูเรื่องการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ เพื่อหาข้อยุติค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน 142 แท่นผลิตที่ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยจัดทำแผนการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 ซึ่งกรมเชื้อเพลิงหมายมั่นปันมือจะให้เกิดการประมูลภายในปีนี้