กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งปตท.สผ. ผลิตก๊าซแหล่งอาทิตย์ – บงกช ชดเชยก๊าซเอราวัณไม่ตามเป้า

ผู้ชมทั้งหมด 9,850 

กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งปตท.สผ. ผลิตก๊าซแหล่งอาทิตย์ – บงกช ชดเชยก๊าซเอราวัณผลิตไม่ถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ยันไม่กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า มั่นใจ 1 เม.ย. 67 ผลิตได้ตามแผน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน พร้อมประสานทุกฝ่ายเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา  

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ภายใต้การดำเนินการ (Operator) บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด  (PTTEP ED) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) นั้นจะไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามเป้าหมายเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เนื่องจากเครนของเรือ K1 ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ติดตั้งแท่นหลุ่มผลิตของแปลงสำรวจฯ G1/61 เกิดความเสียหายต้องเปลี่ยนเรือลำใหม่ ส่งผลให้การติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่นล่าช้าออกไปประมาณ 2 เดือน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปี 2566 ส่งผลให้การผลิตก๊าซธรรมชาติได้ไม่ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตไปแล้ว 8  แท่น มีการเจาะหลุมผลิตแลวเสร็จถึง 218 หลุม มีผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยกำลังการการผลิตก๊าซฯ ที่ขาด 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันทาง ปตท.สผ. จะเร่งดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) อีก 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่มีสัญญาผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งอาทิตย์ 60 ล้านลูกบาศฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือกับเมียนมาให้ขยายระยะเวลาแผนลดกำลังการผลิตในแหล่งยาดานา ออกไปก่อน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และประสามานมาเลเซียของให้ก๊าซจากแหล่งพัมนาพื้นที่ร่วม เจดีเอ มาใช้ในไทย ในกรณีที่มาเลเซียไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งจากแผนบริหารจัดการก๊าซฯ จะส่งผลให้การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงลดลง และช่วยทำให้ไม่เพิ่มภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับเป้าหมายการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงสำรวจฯ G1/61 นั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมั่นใจว่า ปตท.สผ. จะสามารถผลิตก๊าซฯ ได้ตามแผน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เมษายน 2567 ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) อย่างแน่นอน แต่หากไม่สามารถผลิตได้ตามสัญญาก็จะมีบทปรับต่อ ปตท.สผ. ในสัดส่วน 10% ของปริมาณการผลิตที่ได้ตามสัญญา   

ส่วนในกรณีที่รัฐบาลจะเร่งเจรจาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศในการเจรจากับกัมพูชา เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA ใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติ ชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในแหล่งที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตลดลง อย่างไรก็ตามการดำเนินการใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนจะต้องมีการออกกฏหมายขึ้นมาดำเนินการ โดยระยะเวลาในการเจรจาคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในขบวนการเจรจาประมาณ 10 ปีถึงจะเริ่มขบวนการเข้าสำรวจพื้นที่ได้ ซึ่งหากร่วมกันพัฒนาก็จะเป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงานไทยในอนาคตอีกด้วย