ผู้ชมทั้งหมด 830
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เดินหน้าคัดเลือกพื้นที่กักเก็บ CO2 ทั้งบนบกและในทะเล คาดโครงการแอ่งแม่เมาะ-ลำปาง ได้ข้อสรุปการประเมินศักยภาพทางธรณีวิทยา ช่วงไตรมาส 1 ส่วนโครงการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ผลการศึกษาน่าจะเสร็จสิ้น ไตรมาส3 ปีนี้ หวังดันไทยพัฒนาเป็น CCS Hub
“ภาวะโลกร้อน” กลายเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ ประเทศไทย ให้ความสำคัญและร่วมมือกับหลายประเทศทั่วโลก ในการร่วมกำหนดเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero)ภายในปี ค.ศ. 2065
คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้สั่งการใช้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมกับอีก 18 หน่วยงาน จัดทำแผนนำร่อง ทั้งหมด 23 โครงการ ใน 5 พื้นที่ เบื้องต้น ทางกรมเชื้อเพลิงฯ ได้ประเมินศักยภาพของแหล่งที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) มาจากชั้นน้ำมันและชั้นหินที่สูบหมดได้แล้ว(Depleted Reservoirs) ทั้งบนบกและในทะเล จาก 5 แอ่ง ได้แก่ แอ่งมาเลย์ตอนเหนือ,แอ่งกระ,แอ่งกระตะวันตก,แหล่งสินภูฮ่อมและน้ำพอง และแอ่งพิษณุโลก เบื้องต้น น่าจะได้ถึง 2.69 GtCO2 หรือ 2,690 ล้านตันCO2
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ด้านการดำเนินงานและพัฒนา เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศไทยนั้น จะเร่งผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและมีประสิทธิภาพสูงในการจัดการ CO2 เพื่อเป็นไปตามนโยบายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ การดำเนินงานด้าน CCUS ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก
ปัจจุบัน การดำเนินงานด้าน CCUS ในประเทศ 23 โครงการ มีโครงการนำร่องที่สำคัญ ได้แก่ โครงการอาทิตย์ตั้งอยู่ในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา จะเริ่มอัด CO2 ได้จริงภายในปี ค.ศ. 2026 โครงการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน คาดว่าจะมีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 ในชั้นหินอุ้มน้ำเค็ม เพื่อจัดการ CO2 ที่มีการปลดปล่อยบริเวณพื้นที่จากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของประเทศ
ล่าสุด อยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่ในการกักเก็บ CO2 ซึ่งในพื้นที่บนบกจะมีพื้นที่โครงการแอ่งแม่เมาะที่ได้ร่วมกันดำเนินการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และปตท.สผ. และอีกพื้นที่ คือ แอ่งลำปาง ได้ร่วมกับกรมการพลังงานทหาร ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินศักยภาพทางธรณีวิทยา คาดว่าจะได้ผลสรุปภายในไตรมาส1 ปีนี้ ว่าจะมีศักยภาพเท่าไหร่ในการกักเก็บ CO2
ส่วนอีกโครงการเป็นการดูพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เบื้องต้น พบว่ามีศักยภาพพอสมควร ทางกรมเชื้อเพลิงฯ ก็ได้ร่วมกับผู้รับสัมปทานฯ และร่วมกับหลายบริษัทในการศึกษาข้อมูลในการกักเก็บ CO2 คาดว่า จะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
“พื้นที่ในอ่าวไทยตอนบน ถือว่า น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุดในการกักเก็บ CO2 และมีโอกาสในการพัฒนาเป็น CCS Hub”
ขณะเดียวกัน กรมเชื้อเพลิงฯ อยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้าน CCS ซึ่งเบื้องต้นจะอิงตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เป็นหลัก