“กรมเชื้อเพลิง” หนุนรัฐบาลเร่งเจรจาพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา “ปานปรีย์” ยันคุยเฉพาะร่วมพัฒนาปิโตรเลียม  

ผู้ชมทั้งหมด 533 

“กรมเชื้อเพลิง” หนุนรัฐบาลเร่งเจรจาพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา เชื่อมีศักยภาพด้านปิโตรเลียมสูง ระบุต้องเอาก๊าซขึ้นมาใช้ภายใน 10 ปีถึงเกิดประโยน์ ด้าน “ปานปรีย์” ชี้ต้องเจรจาเฉพาะการร่วมพัฒนาปิโตรเลียม ยกตัวอย่างแนวทางไทย-มาเลเซีย  

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) กรมเชื้อเพลิงฯ ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยหากรัฐบาลสามารถเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาและหาแนวทางร่วมกันได้เร็ว กรมเชื้อเพลิงก็มีความพร้อมทั้งด้านเทคนิค เรื่องการสำรวจ เพราะเตรียมข้อมูลไว้แล้ว เมื่อได้ข้อสรุปก็สามารถเดินหน้าทำงานได้ทันที 

สำหรับการหารือเรื่อง OCA ระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาว่า เชื้อว่าหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนในแนวทางเดียวกัน ซึ่งคณะทำงานในเบื้องต้นจะประกอบด้วยกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงพลังงาน หลังจากมีการตั้งคณะทำงานแล้วก็เชื่อว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการเจรจา เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการพัฒนาพื้นที่ OCA

ทั้งนี้ในเขตพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อน OCA ระหว่าง ไทย-กัมพูชา ในอ่าวไทยครอบคลุมพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร จากการศึกษาทางธรณีวิทยา และเชิงเทคนิคโครงสร้างในพื้นที่ตรงนี้ยืนยันได้ว่ายังมีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูงเพราะอยู่ในแอ่งปัตตานีเช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของไทย แต่ต้องเร่งดำเนินการเข้าไปลงทุนสำรวจขุดเจาะผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ภายใน 10 ปีถึงจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทย  

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในพื้นที่ OCA ฝั่งไทยเคยให้สิทธิสัมปทานเอกชนไปแล้วตั้งแต่ปี 2514 และรัฐบาลในขณะนั้นได้สั่งยุติการสำรวจในปี 2518 เนื่องจากมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับทางฝั่งกัมพูชา แต่ปัจจุบันยังคงสิทธิสัมปทานให้เอกชนรายเดิมอยู่ประกอบด้วย เชฟรอน, เชลล์, มิตซุย, และปตท.สวผ. ซึ่งภายหลังจากที่รัฐบาลไทยเจรจากับยรัฐบาลกัมพูชาได้ข้อยุติแล้วก็ต้องดูความชัดเจนจากภาครัฐอีกทีว่าจะให้รายเดิมเป็นผู้ได้สิทธิ์หรือไม่ หรือต้องสัมปทานใหม่ ซึ่งก็ต้องมีการเจรจากันก่อนกับเอชน ในขณะเดียวกันการเจรจาระหว่างรัฐเอกชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการเจรจาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงประเด็นการเจรจาพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ว่า การพบกันอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเจรจาพื้นที่ OCA ซึ่งการเจรจาฝ่ายไทยจะมีการตั้งคณะกรรมการเทคนิคขึ้นมาใหม่ เพื่อเจรจากับคณะกรรมการเทคนิคของฝั่งกัมพูชา โดยในเบื้องต้นทั้งไทยและกัมพูชามีความต้องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว ซึ่งการเจรจาจะเจรจาเฉพาะเรื่องการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์มากกว่าการเจรจาแบ่งเส้นเขตแดน ซึ่งการเจรจาจะมีแนวทางคล้ายกับการพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย