กรมเจ้าท่าเปิดท่าเรือท่าเตียน พร้อมทุ่มงบกว่า 350 ล้าน ยกระดับท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้ชมทั้งหมด 411 

เปิดแล้ว! “ท่าเรือท่าเตียน” หนุนท่องเที่ยว-เดินทางทางน้ำปลอดภัย เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะอื่นอย่างสะดวก เจ้าท่าพร้อมทุ่มงบฯปี 68-69 อีกกว่า 350 ล้านบาท ยกระดับท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา จ่อให้เอกชนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ หวังกระตุ้นผู้ใช้บริการมากขึ้นเท่าช่วงก่อนโควิด

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 เม.ย. ณ บริเวณท่าเรือท่าเตียน นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดใช้ท่าเรือท่าเตียน โดยมี นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วยผู้บริหารของกรมเจ้าท่า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่  สมาคมเรือไทย ผู้ประกอบการริมแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นางมนพร กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียน และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร วงเงินก่อสร้าง 39.047 ล้านบาท

โดยท่าเรือท่าเตียน ถือเป็นโมเดลนำร่อง ตั้งแต่การออกแบบที่นำเอาสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ศิลปะแบบโรมันผสมคลาสสิก มาตกแต่งปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างพร้อมบานหน้าต่างที่ใช้ลูกฝักเพื่อตบแต่ง รวมถึงคงเอกลักษณ์ที่เป็นการรักษาวัฒนธรรมในพื้นที่เดิมเอาไว้ พร้อมสีตัวอาคารที่ยึดตามหลักสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเก่า ที่สำคัญยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัย ทั้งอาคารพักผู้โดยสาร 2 หลัง และโป๊ะเทียบเรือ 6 x 12  เมตร 4 ลูก ที่แยกกันสำหรับเรือข้ามฝากท่าเตียน ไปฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี และเรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า) เรือทัวร์ และเรือทั่วไป รวมถึงยังมีป้ายบอกเส้นทางเดินเรือ ระบบเสียง กล้องวงจรปิด ไฟฟ้าส่องสว่าง และทางลาดสำหรับผู้พิการด้วย

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เป็นลานกว้าง สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้มาเชคอิน ถ่ายภาพได้อย่างสวยงามเนื่องจากตรงข้างท่าเรือเป็นวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมถึง บริเวณใกล้เคียงยังมีพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มีข้อมูลระบุว่ามาจากยุโรปประมาณ 80% นักท่องเที่ยวจีน 15 % และนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 5%ขณะเดียวกันยังมีห้องควบคุมการเดินเรือ เพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยและจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันในแต่ละวันมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการที่ท่าเรือท่าเตียนเฉลี่ย 3,500- 4,000 คนต่อวัน

นางมนพร กล่าวอีกว่า กรมเจ้าท่าวางแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือจำนวน 29 แห่งวงเงิน 799.798 ล้านบาท แบ่งเป็น ก่อสร้างท่าเรือ 629.98 ล้านบาท และติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและปลอดภัยในท่าเรือ 170.5 ล้านบาท มีดังนี้ ท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 10 ท่า ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพายัพ ท่าบางโพ ท่าช้าง ท่าราชินี ท่าเตียน ท่าสาทร และท่าเรือคลองสาน

ส่วนท่าเรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง จำนวน 5 ท่า วงเงิน 149.952 ล้านบาท ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2567 ,ท่าเรือพระราม 5 ผลงาน 45 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2567 ,ท่าเรือปากเกร็ด ผลงาน 20 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2567 ,ท่าพระราม 7 ผลงาน 42 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2567 และท่าเกียกกาย ผลงาน 24 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2567 ทั้งนี้เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างท่าเกียกกาย เป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกัน จึงมอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการต่อไป

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2568 ได้วางแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 4 ท่า วงเงิน 169.4 ล้านบาท ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล ท่าเทเวศร์ ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา หากได้รับงบประมาณก็คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. 2568 และปีงบฯ 2569 วางแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงท่าเรือเพิ่มอีกจำนวน 11 ท่า วงเงิน 180.9 ล้านบาท ได้แก่ ท่าราชวงศ์ ท่าวัดเทพากร ท่าพิบูลสงคราม 2 ท่าวัดเทพนารี ท่าวัดตึก ท่ารถไฟ ท่าพิบูลสงคราม ท่าสี่พระยา ท่าวัดเขมา ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง ทั้งนี้คาดว่าการปรับปรุงท่าเรือทั้ง 29 แห่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2570

นางมนพร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเฉลี่ยประมาณ 30,000 คนต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประมาณ 30% โดยตัวเลขของผู้โดยสารเมื่อปี 2562 เฉลี่ยประมาณ 40,000-50,000 คนต่อวัน แต่คาดการณ์ว่าหลังจากการปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จ รวมถึงระบบการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะอื่นสามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือได้อย่างสะดวกขึ้น เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น และหากร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม พ.ศ….. มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้ในการเดินทางของประชาชนลงได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการเดินทางทางเรือมากขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกับกรมยังท่ายังเตรียมการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเชิงพาณิชย์ในการบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งจะมีร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงการติดแอร์ และระบบตั๋วโดยสาร ซึ่งอยู่ระหว่างการรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในปี 2567 เพื่ออนุมัติในหลักการ ทั้งนี้คงไม่ได้ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนบริหารจัดการในทุกท่าเรือ แต่จะดำเนินการเฉพาะท่าเรือที่เหมาะสมและมีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นการวางแนวทางสำหรับการบำรุงรักษาท่าเรือในอนาคต เพราะหากจะใช้งบประมาณภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่ครอบคลุมทั่วถึงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นน่าจะเป็นสัดส่วนการลงทุนแบบเอกชน 70% และ รัฐลงทุน 30% คาดว่าจะเริ่มดำเนินการนำร่องได้ใน 2568 ในท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก เช่น ท่าเรือท่าสาทร ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือท่าเตียน และ ท่าเรือบางโพ  เป็นต้น