“กรมราง” พาตะลุยฉงชิ่งเปิดโลกเชื่อมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อเชื่อมไทย -เชื่อมโลก

ผู้ชมทั้งหมด 79 

การพัฒนาระบบขนส่งทางรางระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสและเชื่อมโยงเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไปสู่ตลาดโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางรางเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ดังนั้นกรมการขนส่งทางราง(ขร.) ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการเสนอแนะนโยบายยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง วางแผนโครงข่าย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่น จึงจำเป็นต้องเร่งศึกษาการใช้ประโยชน์รางและข้อจำกัดรองรับการขนส่งทางราง เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนให้ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสที่เกิดขึ้นส่งเสริมให้เป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค เพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสของผู้ประกอบการไทยให้สามารถเชื่องโยงไปยังระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ผ่านโครงการศึกษาการใช้ประโยชน์รางและข้อจำกัดเพื่อรองรับเชื่อมโยงการขนส่งทางราง เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง

นครฉงชิ่ง” ศูนย์กลางการขนส่งสำคัญของจีนตะวันตก

โดยเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมากรมการขนส่งทางราง(ขร.) นำโดย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนเดินทางไปยังนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้กิจกรรมการมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์อันดี เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์ของการขนส่งทางรถไฟในการเชื่อมโยงตามแนวเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ – คุนหมิง เพื่อศึกษาดูงานการขนส่งทางรางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังยุโรปได้

สำหรับนครฉงชิ่ง ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งสำคัญที่เชื่อมต่อจีนตะวันตกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้ายการขนส่งทางรถไฟ ทางทะเล และทางถนน เป็นโครงการริเริ่มที่สำคัญภายใต้กรอบความร่วมมือ Belt and Road Initiative (BRI) เพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้าจากจีนตะวันตกไปยังตลาดต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย และภูมิภาคอื่นๆ  

เส้นทางขนส่งสินค้าจากไทย-จีน-ยุโรป

นายพิเชฐ บอกว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังนครฉงชิ่งผ่านเส้นทางรถไฟใช้เวลาประมาณ 4 วัน ถือว่ารวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ การขนส่งทางรถไฟจึงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เช่น ผลไม้สด หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งในปี 2566 รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากกว่า 430,000 TEU และปัจจุบันขบวนรถไฟจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากถึง 110 เมืองในเอเชียและยุโรป เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) เริ่มต้นจากสถานี Tuanjie Village Central Station ผ่าน Alashankou (Horgos) เขตปกครองตนเองซินเจียง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ ไปยังเยอรมนี รวมระยะทาง 10,987 กิโลเมตร ใช้ ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 14-15 วัน

ชณะที่เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง น่าจะเป็นเส้นทางที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อไปยังตลาดจีน และไปถึงตลาดในยุโรปได้ โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย เริ่มต้นจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ท่าเรือแหลมฉบัง/มาบตาพุด หนองคาย เวียงจันทน์ บ่อเต็น โม่ฮาน คุนหมิง ฉงชิ่ง ซินเจียง อี้หนิง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และทวีปยุโรป ร่วมมือแก้ไขข้อจำกัดทางศุลกากร

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนั้น พบว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องศุลกากรระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสินค้า รวมไปถึงสับเปลี่ยนขบวนรถเมื่อข้ามพรมแดนประเทศ เนื่องจากปัจจุบันรถไฟของแต่ละประเทศยังมีการใช้ระบบรางที่แตกต่างกัน แต่หากทุกประเทศร่วมกันแก้ไขด้วยการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้รูปแบบเดียวกัน หรือ Single Window เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ หากทำได้จะส่งผลให้กระบวนการศุลกากรสะดวกขึ้น

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางเปิดประตูการค้า

การเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน โดยสินค้าบางส่วนเริ่มหันมาใช้การขนส่งโดยเส้นทางรถไฟมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลไม้และพลาสติก โดยมีสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย-สปป.ลาว แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในปี 2564 มีปริมาณการขนส่งเพียง 2,288 ตัน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 46,287 ตันในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 63,676 ตันในปี 2567 พบว่ามีการเติบโตอย่างมาก คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 37.56 เมื่อเทียบกับปี 2566 และเมื่อเทียบกับปี 2564

ดังนั้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพ อย่างโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน (กรุงเทพ-หนองคาย ) ที่จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2572 ก็จะช่วยรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบการขนส่งหลักของประเทศ และรองรับการเดินทางระหว่างภาค ตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร และในอนาคตยังจะเชื่อมต่อไปยังนครหลวงเวียงจันท์ สปป.ลาว ได้ ซึ่งจะเป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยวที่สำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย

เชื่อมโครงข่ายคมนาคมอย่างไรรอยต่อเชื่อมไทย-เชื่อมโลก

“ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านโลเคชั่นที่ดี  เพราะอยู่ตรงกลางของอาเซียน หากอาศัยความได้เปรียบนี้คำว่าทางรถไฟเชื่อมโลกคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหากเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง แล้วเสร็จ จะกลายเป็นเส้นทางคมนาคมอย่างไรรอยต่อ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ  อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การขนส่ง การเคลื่อนย้ายทรัพยากร รวมถึงมีอำนาจต่อรองทางการค้า ให้แก่ประเทศในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างแน่นอน”นายพิเชฐ กล่าว