ผู้ชมทั้งหมด 819
กรมธุรกิจพลังงาน เตรียมเสนอ ครม. ปรับลดชนิดน้ำมันดีเซล เหลือ 2 ชนิด (บี7 และบี20) มีผล 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป หนุนยอดการใช้ไบโอดีเซล(บี100) เพิ่ม ขณะที่ 1 ม.ค.นี้ เดินหน้ายกคุณภาพน้ำมันสู่มาตรฐาน ยูโร 5 คาดใช้เวลาเปลี่ยนผ่านครบทุกปั๊มทั่วประเทศภายใน 4 เดือน เชื่อยอดการใช้น้ำมันปี 2567 โต 1- 2% ใกล้เคียงปี 2566
น.ส. นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรับทราบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ที่เห็นชอบปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาที่เป็นน้ำมันฐานของประเทศจะมีการผสมไบโอดีเซล (B100) อยู่ที่ร้อยละ 7 (บี7) ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สามารถใช้กับน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ค่ายรถยนต์ให้การยอมรับและไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 20) เป็นน้ำมันทางเลือก เริ่ม 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การปรับลดชนิดน้ำมันดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในปัจจุบันมีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลอยู่ที่ร้อยละ 7 อยู่แล้ว โดยมีการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 4.33 ล้านลิตร/วัน และการใช้น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 3.77 ล้านกก./วัน และคาดว่าในปี 2567 จะมีการใช้ไบโอดีเซล เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.66 ล้านลิตร/วัน และการใช้น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 3.88 ล้านกก./วัน ตามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น โดย กพช. ได้มอบหมายให้ ธพ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการอุปทานน้ำมันปาล์มหากได้รับผลกระทบจากการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลดังกล่าว
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงาน ยังได้เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ขยายระยะเวลากำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว 3 ชนิด ที่จะสิ้นสุดลงสิ้นเดือนธ.ค.นี้ ออกไปอีก 4 เดือน ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2567 ให้เป็นตามเดิม ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20
“ตอนนี้ ประเทศไทย จะยังมีการจำหน่ายน้ำมันดีเซล 3 ชนิดตามเดิม คือ บี7 บี10 และ บี20 โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป จะลดเหลือ 2 ชนิด คือ บี7 และบี20 เท่านั้น เพื่อลดความสับสนให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมัน โดยกำหนดสัดส่วนผสมน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 ขณะที่การลดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินนั้น ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้”
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานยังได้มีการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง รัฐบาลจึงได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลพิษ PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งกำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่เป็นระดับยูโร 5 และยูโร 6 และมอบให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงานบังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถันไม่เกิน 10 ppm) ทั้งนี้ จะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งในเขตกรุงเทพฯ คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือนทางสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน จะเปลี่ยนมาจำหน่ายน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ได้ครบทุกปั๊ม และภายใน 3-4 เดือน ทุกปั๊มทั่วประเทศจะสามารถเปลี่ยนมาจำหน่ายน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ได้ทั้งหมด
“ขอให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์มั่นใจ น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยไม่เกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ และช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่า รถยนต์มาตรฐานยูโร 3 และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุดเมื่อใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24% อีกด้วย”
ส่วนต้นทุนราคาน้ำมันตามมาตรฐาน ยูโร 5 นั้น ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลก่อนหน้านี้ พบว่า กลุ่มโรงกลั่นฯ ได้แจ้งว่า ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐาน ยูโร 5 มีวงเงินลงทุนรวมราว 50,000 ล้านบาท
น.ส. นันธิกา กล่าวอีกว่า แนวโน้มยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตในระดับ 1-2% ใกล้เคียงกับปีนี้ และสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่การใช้น้ำมันในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ เชื่อว่า จะเติบโตขึ้นเช่นเดียวกับทุกปี ซึ่งทางกรมธุรกิจฯ ได้ประสานไปยังผู้ค้าน้ำมัน และผู้ประกอบการขนส่งน้ำมัน ให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยในการขนส่งน้ำมันและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงสำรองน้ำมนให้เพียงพอกับความต้องการใช้
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม – ตุลาคม 2566 อยู่ที่ 152.17 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 68.59 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.0 เนื่องจากในปี 2565 (ก.ย. – ต.ค.) มีการใช้น้ำมันดีเซลพื้นฐานเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.17 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 60.6 เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.93 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.36 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8