ผู้ชมทั้งหมด 59
กรมทางหลวง โชว์นวัตกรรม! สร้างสะพาน Network Tied Arch ไร้เสาตอม่อข้ามเจ้าพระยาแห่งแรกในไทย เชื่อม ทล.311 และ ทล. 32 ผ่านกลางเมืองสิงห์บุรี บรรเทารถติด กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/AOA_6092-1-1024x649-1.jpg)
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.ได้รับงบประมาณปี 2568 ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 311 ช่วงแยกศาลหลักเมือง – แยกไกรสรราชสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,100 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างกลางปี พ.ศ. 2568 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2570
โดยปัจจุบันสายทางดังกล่าวมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การดำเนินโครงการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจ สำหรับลักษณะการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ตัวสะพานหลักที่ทอดข้ามแม่น้ำ (Arch Bridge) และสะพานเชื่อมทางขึ้นลง หรือที่เรียกว่า (Approach Bridge)
โดยการก่อสร้างสะพานหลัก เป็นสะพานโค้งแบบเครือข่ายที่มีระบบค้ำยันภายใน (Network Tied Arch Bridge) แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีความโดดเด่นทางวิศวกรรมด้วยช่วงยาว 150 เมตร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่มีเสาตอม่อในน้ำ ทำให้ดูสวยงามและไม่กีดขวางการไหลของน้ำ โดยสะพานนี้ใช้เทคโนโลยี “Network Tied Arch” ที่ทันสมัย ด้วยการใช้สายเคเบิลลายเส้นขึงไขว้กันเป็นรูปแบบเครือข่าย (network cable pattern) ทำให้สะพานสามารถรับน้ำหนักได้มาก เพิ่มความแข็งแรง ลดการโก่งตัวของโครงสร้าง แตกต่างจากสะพานโค้งทั่วไปที่ใช้สายเคเบิลขึงตรง อีกทั้ง ส่วนโค้งและสายเคเบิลยังทำงานร่วมกันเพื่อช่วยถ่ายแรงไปยังพื้นสะพาน ทำให้สะพานมีความมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 3 ช่องจราจร (ขาเข้าตัวเมือง) ขนาดความกว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทาง 2.50 เมตร พร้อมทางเท้าข้างละ 4.95 เมตร มีความสูงประมาณ 30 เมตร พร้อมงานประดับตกแต่งไฟบนสะพานเพื่อความสวยงามในยามค่ำคืน
ส่วนการก่อสร้างสะพานเชื่อมทางขึ้นลง (Approach Bridge) เป็นสะพานที่เชื่อมต่อถนนหรือทางลาดเข้ากับตัวสะพานหลัก ทำหน้าที่รองรับการจราจรที่เข้าและออกจากสะพานหลัก ช่วยกระจายแรงและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงความสูงระหว่างถนนกับสะพาน สร้างด้วยคอนกรีตอัดแรงแบบ (I – Girder) มีเสาเข็มเจาะเป็นฐานราก มีทั้งหมด 6 ช่วง แบ่งเป็นช่วงยาว 20 เมตร จำนวน 3 ช่วง และช่วงยาว 25 เมตร จำนวน 3 ช่วง รวมความยาว 135 เมตร ขนาด 3 ช่องจราจร (ขาเข้าตัวเมือง) ขนาดความกว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทาง 2.50 เมตร ผิวทางแบบแอสฟัลต์คอนกรีต นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างเชิงลาดคอสะพาน กำแพงกันดิน เพื่อให้การเชื่อมต่อระหว่างสะพานกับถนนเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และลดการทรุดตัวบริเวณรอยต่อ” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรและลดปัญหาการจราจรติดขัด
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/S__11444350-1024x473.jpg)
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/S__11444352-1024x473.jpg)
นอกจากนี้ ทล.ได้ออกแบบปรับปรุงจุดตัดทางแยกบนทางหลวง บริเวณแยกศาลหลักเมือง (จุดตัดระหว่าง ทล.311, ทล.309 และ ทล.3030) ถึงบริเวณแยกไกรสรราชสีห์ (จุดตัดระหว่าง ทล.311, ทล.335 และทางหลวงชนบท สห.3032) โดยปรับจากสี่แยกไฟแดงเป็นวงเวียน และปรับปรุงแยกขุนสรรค์ (จุดตัดระหว่าง ทล.311 และถนนขุนสรรค์) พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างพื้นที่สันทนาการริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ประชาชนในจังหวัดสิงห์บุรีและพื้นที่ใกล้เคียงจะได้รับประโยชน์มากมาย อาทิ การเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นจากการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การจราจรที่คล่องตัว บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจเติบโต คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และการพัฒนาพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน