ผู้ชมทั้งหมด 784
ผลงานชิ้นแรก!! กรมทางหลวง นำอุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพารา จดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาขึ้นเพื่อการซ่อมรอยต่อรับแรงเฉือน (Shear Key) ของสะพานประเภทแผ่นพื้นเรียง
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดย สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการบำรุงรักษาสะพาน “อุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพารา” ซึ่งเป็นสิทธิบัตรแรกของกรมทางหลวงและนวัตกรรมแรกของประเทศไทย โดยมี นายราชวัลลภ กัมพูพงศ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์
สำหรับ “อุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพารา” พัฒนาขึ้นเพื่อการซ่อมรอยต่อรับแรงเฉือน (Shear Key) ของสะพานประเภทแผ่นพื้นเรียงเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการซ่อมใหญ่หรือเป็นการเสริมกำลังในกรณีพิเศษ เช่น รถบรรทุกน้ำหนักเกินกรณีพิเศษและเพื่อให้เกิดความสะดวกในการติดตั้ง จึงได้ทำการออกแบบและผลิตระบบเสริมแรงดึงในแผ่นยางให้สามารถดึงแผ่นยางและรั้งแรงดึงไว้ก่อน ซึ่งสามารถปลดอุปกรณ์รั้งแรงดึงภายหลังเพื่อถ่ายแรงเข้าไปเสริมกำลังคานสะพานโดยที่ไม่ต้องดึงแผ่นยางหน้างาน
นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องปิดการจราจรทั้งหมดบนสะพาน แถบยางพาราอัดแรงได้รับการทดสอบประเมินความสามารถในการเสริมกำลังขนาดเท่าจริงในห้องปฏิบัติการ ผลการทดสอบและการวิเคราะห์แบบจำลองไฟไนต์อิลิเมต์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคานสะพานภายหลังเสริมกำลังด้วยแถบยางพาราอัดแรงมีความแข็งแรงขึ้นและสามารถช่วยถ่ายเทแรงเฉือนได้ตามที่ออกแบบ
โดยอุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพาราถือเป็นนวัตกรรมเพื่อการบำรุงรักษาสะพานนวัตกรรมแรกของประเทศไทยและถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมงานทาง ภายใต้ยุทธศาสตร์งานวิจัย 5 ปี สนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มอบสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522) แก่ กรมทางหลวง (สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง) สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามข้อถือสิทธิ และภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ “อุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพารา” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565