ผู้ชมทั้งหมด 46
กรมทางหลวงชนบท ส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งภาคอุตสาหกรรม รองรับและบรรเทาปริมาณการจราจรในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เริ่มเข้าพื้นที่เดินหน้าขยายถนน 6 เลน สาย สป.1006 อำเภอบางบ่อ, บางเสาธง กว่า 9 กิโลเมตร คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย สป.1006 แยก ทล.3 – เคหะบางพลี อำเภอบางบ่อ, บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 เพื่อรองรับและบรรเทาปริมาณการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน ส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งโดยรอบพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับถนนทางหลวงชนบทสาย สป.1006 แยก ทล.3 – เคหะบางพลี อำเภอบางบ่อ, บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันมีขนาด 4 ช่องจราจร เป็นเส้นทางผ่านพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ผ่านชุมชนเคหะบางพลี ชุมชนเมืองใหม่บางพลี และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบดังกล่าวมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการใช้เส้นทางคมนาคมเพื่อการสัญจรและขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้การจราจรโดยรอบมีปริมาณที่สูงขึ้น และหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณวงเวียนแยก ทล.3268 (ถนนเทพารักษ์) จะเป็นจุดที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่เป็นประจำ ทช. จึงได้ดำเนินการขยายช่องจราจร จากเดิม 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร
โดยการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ตอน รวมระยะทางดำเนินการ 9.525 กิโลเมตร ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก เริ่มต้นจาก กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 6+500 ระยะทาง 6.500 กิโลเมตร และมีการปรับปรุงขยายสะพานข้ามคลอง จำนวน 7 แห่ง ใช้งบประมาณ 719.100 ล้านบาท และตอนที่ 2 ก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก เริ่มต้นจาก กม.ที่ 6+500 ถึง กม.ที่ 9+525.53 ระยะทาง 3.025 กิโลเมตร รวมทั้งมีการก่อสร้างสะพานข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) และก่อสร้างขยายสะพานข้ามคลองสำโรง ใช้งบประมาณ 749.900 ล้านบาท ปัจจุบันทั้ง 2 ตอน ได้เริ่มเข้าพื้นที่ เพื่อเตรียมการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 ต่อไป
ทั้งนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมการขนส่งสินค้าภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต ส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งให้มีความสมบูรณ์ แบ่งเบาการจราจรบนถนนสายหลัก ช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด ทำให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็วปลอดภัย ตลอดจนเป็นการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และ อุตสาหกรรมบริการในพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืนอีกด้วย