กฟภ.เตรียมเสนอกกพ.เลื่อนวันยื่นซองชิงโรงไฟฟ้าชุมชน

ผู้ชมทั้งหมด 1,072 

กฟภ. เตรียมเสนอกกพ.เลื่อนกำหนดวันยื่นซองชิงโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นวันที่27-30เม.ย.64 พร้อมกำหนดวิธียื่นสมัครและการชำระหลักประกันการยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นรูปแบบออนไลน์ลดความเสี่ยงโควิด-19 ส่วนวันประกาศผลยังคงเดิม

นายเสกสรร เสริมพงศ์ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการกำหนดวันยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าและยื่นซองเอกสารคำขอเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคและด้านราคาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์) ใหม่เป็นวันที่ 27-30 เมษายน 2564 จากเดิมกำหนดวันที่ 21-23 เมษายน 2564 รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบวิธียื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า หรือใบสมัครและการชำระหลักประกันการยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดขั้นตอนในการยื่นเอกสารโดยตรงที่สำนักงานใหญ่กฟภ. เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตามการยื่นซองเอกสารด้านเทคนิคและด้านราคานั้นจะยังคงกำหนดให้มายื่นที่อาคารคลับเฮ้าส์ ชั้น 1 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ เนื่องจากว่าเป็นซองเอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องยื่นด้วยตนเอง ซึ่งจะไม่สามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยภายหลังจากยื่นเอกสารแล้วทางกฟภ.จะพิจารณาเอกสารต่อไปคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งเมื่อกฟภ.พิจาณาเอกสารแล้วหากต้องการจะขอเอกสารประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมอย่างไรก็จะแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ จากนั้นจะประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติคำเสนอขายไฟฟ้าและด้านเทคนิค ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 โดยขั้นตอนต่อไปก็จะเสนอรายชื่อไปยังกกพ.เพื่อพิจารณาอีกรอบพร้อมทั้งเปิดให้ผู้ที่ไม่ผ่านสามารถยื่นอุทธรณ์ได้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ภายหลังกฟภ.ประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติคำเสนอขายไฟฟ้าและด้านเทคนิค ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 แล้วกำหนดวันประมูลแข่งขันด้านราคาและประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการยังคงกำหนดเช่นเดิม คือ ผู้ผ่านคุณสมบัติและด้านเทคนิคแล้วจะได้รับการพิจารณาการประมูลแข่งขันด้านราคาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการ 15 กรกฎาคม 2564 โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2567 

อนึ่งโครงการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนฯ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 3 เมกะวัตต์

ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1. ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย 2. ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FiT ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษ อีก 0.50 บาทต่อหน่วย