กฟภ. ครบรอบ 64 ปี ลุยเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาพลังงานสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ผู้ชมทั้งหมด 218 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดดำเนินการมา 64 ปี เริ่มต้นจากการบุกเบิกนำไฟฟ้าสู่ประชาชน เร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าสู่ชนบท ส่งเสริมความเจริญสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจนสามารถขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงในพื้นที่รับผิดชอบ 74 จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ) นำเทคโนโลยีมาพัฒนาการดำเนินงานเพื่อยกระดับมาตรฐานระบบส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าและการบริการให้สามารถแข่งขันเชิงธุรกิจในระดับสากล

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า PEA ครบรอบ 64 ปี ในวันที่ 28 กันยายน 2567 และก้าวสู่ปีที่ 65 อย่างมั่นคง โดยในปัจจุบัน PEA มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนองค์กรสู่ PEA Digital Utility และยังคงเดินหน้าบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบไฟฟ้าอัจฉริยะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ “ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” (Smart Energy for Better Life and  Sustainability) และยังได้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2567-2571) ด้วยงบประมาณกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยมีการลงทุนในหลายด้าน เพื่อยกระดับการให้บริการ

PEA Digital and Green Grid ยกระดับระบบจำหน่ายแรงต่ำ

การดำเนินการพัฒนาระบบ Meter : Advanced Metering Infrastructure (AMI) เป็นระบบ Smart Meter ที่ได้นำร่องใช้งานสำหรับลูกค้าทุกรายในพื้นที่เมืองพัทยามากกว่า 1 แสนเครื่อง การพัฒนา e-Meter : สับเปลี่ยนมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ทดแทนมิเตอร์จานหมุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์สามารถจดหน่วยในระยะไกลผ่านระบบ Bluetooth ด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัย หน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัล อ่านค่าง่าย ชัดเจน แม่นยำ เก็บประวัติการใช้ไฟฟ้าได้รองรับการซื้อขายไฟในอนาคต การใช้ระบบ IoT sensors โดยนำมาติดตั้งใช้งานในหม้อแปลงระบบจำหน่าย พร้อมระบบบริหารจัดการหม้อแปลง (Distribution Transformer Management System : DTMS) เพิ่มประสิทธิภาพในระบบจำหน่าย

เสริมความมั่นคงการจ่ายไฟ

ด้านระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) PEA พัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยระบบกักเก็บพลังงานเชื่อมต่อในระบบจำหน่าย พื้นที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แก้ไขปัญหาคุณภาพไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้ากรณีไฟฟ้าดับได้อย่างรวดเร็ว และพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานสายเคเบิลใต้น้ำเส้นเดิมให้สูงขึ้น ต่อยอดการนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ใช้งานร่วมกับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 

นอกจากนี้ PEA ยังได้พัฒนาต้นแบบไมโครกริด (Microgrid) ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อลดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นระบบจ่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ตามนโยบายของรัฐบาล

PEA Green Finance

การออก ESG BOND นั้น PEA เป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานแห่งแรกที่จัดทำ Framework สอดคล้องตามมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN Taxonomy) ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรก อายุพันธบัตร 5 ปี วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท  โดยนำเงินที่ได้มาลงทุนโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro Grid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี PEA เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียวด้วยการออกพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินโครงการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีตลอดจนประโยชน์ของประเทศ

PEA Digital Service

PEA ยังได้มีการพัฒนาช่องทางดิจิทัล (Platform Digital) เพื่อให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง PEA Smart Plus, PEA e-Service และ LINE Official “PEAThailand” ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งเน้นให้บริการที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย สะดวก ง่ายต่อการใช้งาน เพิ่มช่องทางการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ไฟฟ้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ ตรวจสอบค่าไฟฟ้า ชำระค่าไฟฟ้า ขอใช้ไฟฟ้าใหม่ ขอขยายเขตไฟฟ้า ขอรับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และพบกับการใช้บริการออนไลน์รูปแบบใหม่เพิ่มบริการอีก 29 รายการผ่าน www.sabuy.pea.co.th เร็วๆ นี้

PEA Green Business

ด้านการดำเนินธุรกิจ EV นั้น PEA มีการลงทุนพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ EV) ในอนาคต โดยมีการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายใต้ชื่อ PEA Volta ปัจจุบันได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ามากกว่า 400 สถานี ครอบคลุม 75 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และให้บริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าพิกัดสูง (EV SUPER CHARGE) ขนาด 360 kW ซึ่งเป็นเครื่องอัดประจุพิกัดสูงที่สุดในประเทศไทย (SUPER CHARGE) สามารถใช้งานผ่าน PEA Volta Application ประกอบด้วย ฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ อาทิ ค้นหาสถานีชาร์จ ควบคุมการเริ่มหรือหยุดการอัดประจุแบบ Real time และชำระค่าบริการ

นอกจากนี้ PEA ยังมีบริการอัดประจุผ่าน PEA Volta Platform ระบบบริหารสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กผ่าน Termfai Platform โดยมี Pupa plug เต้ารับสำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าพิกัด 3.7 kW และ Pupapump Ac charger 7.7 kW และในไม่ช้า PEA จะเพิ่มการบริการอัดประจุที่สถานี PEA Volta ให้กลุ่มลูกค้าองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน (Volta Fleet) โดยผู้ใช้รถไม่ต้องพกเงินสด ไม่ต้องโหลด App บริหารค่าใช้จ่ายผ่านระบบ Master Account และ Account ย่อย

ส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน PEA ได้ลงทุน SOLAR ROOFTOP เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยให้บริการติดตั้ง บำรุงรักษา บริการจัดการพลังงานในองค์กร ได้แก่ Renewable Energy (RE) ในรูปแบบ ESCO Model Guaranteed Rebate และ Energy Efficiency (EE) ในรูปแบบ ESCO Model Shared Saving

นอกจากนี้ยังดำเนินการจัดหาใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) สำหรับองค์กรที่มีเป้าหมายจะมุ่งสู่ความยั่งยืน หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดและองค์กรที่ได้รับผลกระทบการส่งออกจากมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

พร้อมกันนี้ PEA ยังได้ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม CARBONFORM เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA ทั้ง 74 จังหวัดใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างละเอียด ติดตามความคืบหน้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเรียลไทม์ วิเคราะห์แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วางแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการขององค์กร ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

PEA Sustainability Society โครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน PEA ยังได้ดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้ สร้างรายได้ให้ช่างไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย เป็นช่างไฟฟ้าประจำตำบล ซึ่งผ่านการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง และมีแผนงานขยายผลดำเนินโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 ช่างไฟฟ้า ตามภารกิจกระทรวงมหาดไทยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs โดยร่วมกับ 4 กระทรวง 3 หน่วยงาน จัดอบรมช่างไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนช่างไฟฟ้าในท้องถิ่นให้สามารถบริการซ่อมแซมไฟฟ้าตามมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งในปี 2569 จะมีช่างไฟฟ้าที่ผ่านการอบรมจากโครงการครบ ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ 74 จังหวัด

โครงการ PEA LED เพื่อแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย ติดตั้งหลอดประหยัดพลังงานชนิด LED ส่องสว่างโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยว ประหยัดค่าไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดำเนิน โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ระยะที่ 2 ขยายเขตไฟฟ้าให้เกษตรกร 55,876 ราย ในพื้นที่ทำกินทางการเกษตรและพื้นที่ห่างไกลให้มีไฟฟ้าใช้ครอบคลุมทุกครัวเรือน โดยในปี 2567 – 2571 PEA จะดำเนินโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ระยะที่ 3 ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

โครงการ PEA ส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้อบแห้งผลผลิตทางการเกษตรให้มีมาตรฐานตามความต้องการของตลาด สร้างรายได้ให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยประชาชนกลุ่มเปราะบาง PEA ยังได้ขยายระยะเวลามาตรการงดจ่ายไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มียอดการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน และค้างชำระค่าไฟฟ้าได้ไม่เกิน 3 บิลเดือน ระยะเวลามาตรการดังกล่าวสิ้นสุดถึงบิลค่าไฟเดือนพฤศจิกายน 2567

PEA Next Move

ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต PEA ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาระบบโครงข่าย และระบบจำหน่ายที่มั่นคง รองรับการขยายตัวของลูกค้าอุตสาหกรรมและการเพิ่มขึ้นของพลังงานสะอาด สร้างพันธมิตรกับเครือข่าย Startup เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ยกระดับผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ รวมถึงเตรียมความพร้อมของระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพลังงานในอนาคตด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของ Grid Modernization วางแผนการดำเนินงาน Green Tech Fund เพื่อสร้างผลตอบแทนการลงทุน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินงานของ PEA และยกระดับการพัฒนาองค์กรไปสู่ Carbon Neutrality