กฟผ. เร่งส่งถุงยังชีพ – ดูแลระบบไฟฟ้า ช่วยประชาชนรับมือเหตุอุทกภัย

ผู้ชมทั้งหมด 766 

กฟผ. เร่งส่งมอบถุงยังชีพกว่า 4,600 ชุด และน้ำดื่ม 25,000 ขวด กระจายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าและเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ประสบภัยเต็มที่ บรรเทากระทบประชาชน

สถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้กระจายกำลังหน่วยงานซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศเข้าสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุกภัยอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นได้เร่งมอบถุงยังชีพกว่า 4,600 ชุด และน้ำดื่มกว่า 25,000 ขวด แก่ผู้ประสบอุทกภัยใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ตาก น่าน และระยอง

นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ​ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคเหนือ กฟผ.เขื่อนภูมิพล ร่วมกับจังหวัดตากและเหล่ากาชาดจังหวัดตากสนับสนุนถุงยังชีพกว่า 900 ชุด ภายในถุงประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อาทิ ข้าวหอมมะลิจากวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่ระวาน ปลาป่นจากวิสาหกิจชุมชนบ้านสันป่าป๋วย รวมถึงน้ำมัน นมถั่วเหลือง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ตำบลยกกระบัตรและตำบลวังจันทร์ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ในขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มอบถุงยังชีพจำนวน 300 ชุด และน้ำดื่ม 3,600 ขวด

สำหรับพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ฝ่ายปฏิบัติการภาคกลางได้เร่งลงพื้นที่ถวายน้ำดื่มจำนวน 5,000 ขวด แก่วัด 14 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมอบถุงยังชีพจำนวน 1,000 ชุด น้ำดื่มจำนวน 12,000 ขวด แก่ผู้ประสบปัญหาอุทกภัยบริเวณใกล้สถานีไฟฟ้าแรงสูงแกลงและแนวสายส่ง กฟผ. ในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอแกลง จังหวัดระยอง รวมถึงมอบถุงยังชีพ 300 ชุด ให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงฝ่ายโรงงานและอะไหล่ของ กฟผ. ในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

“กฟผ. ขอร่วมส่งกำลังใจให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยและขอให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว กฟผ. พร้อมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่จะเคียงข้างคนไทยในทุกวิกฤตและสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มความสามารถ”

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้กำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการภาคเฝ้าระวังเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากอุทกภัย รวมถึงเตรียมแผนรองรับและป้องกันสถานีไฟฟ้าแรงสูงและระบบส่งไฟฟ้าในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาพรวม​ไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟของประชาชน รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วย