ผู้ชมทั้งหมด 1,212
ปี พ.ศ.2565 นับเป็นปีที่ “คนไทย” ใช้ไฟฟ้าอัตราแพงสุดในประวัติการณ์ โดยอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) (งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565) ปรับขึ้น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.00 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งแรกที่ค่าไฟฟ้ามีอัตราสูงสุดจากอดีตที่ผ่านมา
ซ้ำร้าย! ค่าไฟฟ้าในงวดสุดท้ายของปีนี้(งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565) ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ทำสถิติใหม่(นิวไฮ) หากท้ายที่สุดแล้ว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ยืนกราน ที่จะปรับขึ้นตามมติบอร์ด กกพ. ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 และมีมติสรุปค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 อยู่ที่ 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่า Ft งวดปัจจุบัน (พ.ค. –ส.ค. 2565) ที่เก็บอยู่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่า Ft โดยรวมในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราที่สูงสุดใหม่(นิวไฮ)
อีกทั้ง อัตราค่าไฟฟ้าFt งวดสุดท้ายของปีนี้(งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565) ที่จะปรับขึ้นในระดับดังกล่าว ยังไม่รวมการชำระหนี้คืนให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่เข้ามาช่วยแบกรับภาระค่าFt มาแล้ว 3 งวด คือ งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2564, งวดเดือนม.ค-เม.ย. 2565 และงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 ส่งผลให้ กฟผ.มีภาระสะสมรวม 87,849 ล้านบาท และมีการประเมินกันว่า
หากจำเป็นต้องให้ กฟผ.เข้ามาแบกรับภาระค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้(งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565)อีก จะส่งผลให้ กฟผ.ต้องแบกภาระค่า Ft รวมแตะระดับ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลให้ กฟผ.ต้องกู้เงินเพิ่ม และเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐกำลังพิจารณาแนวทางบริหารจัดการค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและไม่ให้กระทบต่อสถานะการเงินของ กฟผ.ด้วย
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า กฟผ. ได้ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนก.ย. 2564 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท แม้ กฟผ. จะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลัง เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง วอนรัฐช่วยดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อความความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว
ทั้งนี้ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร โดยราคาค่าไฟฟ้าและกำไรของ กฟผ. ถูกกำกับโดย กกพ. ให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนและบริหารกิจการเท่านั้น ซึ่งกำไรของ กฟผ. จะถูกนำส่งกระทรวงการคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ รวมถึงลงทุนในระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงทางพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ได้อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอให้ กฟผ. เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 11 กันยายน 2567
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน และมีบทบาทสำคัญในการจัดหาเชื้อเพลิงและผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ โดย กฟผ. ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด และร่วมกับภาครัฐบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดภาระค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เช่น จัดสรรการผลิตไฟฟ้าตามลำดับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ถูกที่สุด เพื่อให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด
แม้ล่าสุด ประเทศไทย จะเผชิญความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เมื่อเกิดสถานการณ์รอยรั่วท่อก๊าซฯแหล่งซอติก้า ในเมียนมา จนต้องหยุดจ่ายการมายังประเทศราว 2 สัปดาห์ ทำให้ก๊าซฯหายไปจากระบบปริมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ดร.จิราพร ศิริคํา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันว่า กฟผ.ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายรัฐในทุกมาตรการและพร้อมร่วมบริหารจัดการการใช้เชื้อเพลิงเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยปรับแผนบริหารเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและดูแลระบบส่งไฟฟ้าให้พร้อมส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเต็มความสามารถถึงมือผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
กฟผ. เชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของเดือนสิงหาคมนี้จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยไม่มีเวียนดับไฟฟ้า หรือ Partial Blackout อีกทั้งทางบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้ยืนยันว่า ในเดือนสิงหาคมมีปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สํารองเพียงพอรองรับการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้า กฟผ. และ IPP อีกทั้งมีแผนนําเข้า LNG เพิ่มในเดือนกันยายนนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดการนำเข้าพลังงานและเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงเพื่อการผลิตไฟฟ้า จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง และช่วยให้ประเทศก้าวข้ามวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ด้วยดี รวมถึงจะสามารถลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ในที่สุด
ที่ผ่านมา กฟผ. ยังได้เข้ามาช่วยประเทศลดภาระค่าไฟฟ้าในหลายแนวทาง ได้แก่ การปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ทดแทนก๊าซฯ ในช่วงราคาก๊าซฯ ในตลาดโลกพุ่งสูง โดยระหว่างเดือนพ.ย. 2564 – มี.ค. 2565 สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 437.50 ล้านบาท และเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ออกจากระบบไปก่อน 1 ปี โดยระหว่างเดือนม.ค. – มี.ค. 2565 สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 3,162.41 ล้านบาท
มาตรการเหล่านี้ นับเป็นภารกิจสำคัญที่ กฟผ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุดในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงเป็นประวัติการณ์