กฟผ.เตือน! อีสานยังน่าห่วง แม้พายุโนรูอ่อนกำลัง เร่งปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 878 

กฟผ. ส่งสัญญาณให้ประชาชนภาคอีสานเตรียมพร้อมรับมือ หลังพายุโนรูอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้น พร้อมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤตเขื่อนภาคอีสาน ยกระดับการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวัง เตรียมเพิ่มระดับระบายน้ำทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ รักษาความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน

สถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “โนรู” ที่เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ทำให้มีฝนตกสะสม ซึ่งสถานการณ์น้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ส่งผลให้เขื่อนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีระดับน้ำเกินระดับน้ำควบคุมตอนบน (Upper Rule Curve : URC) อยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวัง 3 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเขื่อนอุบลรัตน์

นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำชี ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นวันละ 35 ล้าน ลบ.ม. และในกรณีที่มีปริมาณน้ำเกินกว่าความจุอ่าง จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 35 – 54  ล้าน ลบ.ม. โดยจะทยอย ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดตามสถานการณ์น้ำและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ หรือส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อประชาชนในพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน

ทั้งนี้ เขื่อนอุบลรัตน์ได้จัดทำแผนการระบายน้ำรายวัน แจ้งไปยังจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบและประชาชนทุกภาคส่วน ขอให้ประชาชนที่อยู่อาศัย ในบริเวณใกล้เคียงลำน้ำเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม ก็ได้รับอิทธิพลจากฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มปริมาณน้ำเต็มความจุอ่างเก็บน้ำ โดยเขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจากอิทธิพลของพายุโนรูแล้วจำนวน 225 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น (Spillway) ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2565 เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน ซึ่ง กฟผ. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม เขื่อนในภาคอีสานของ กฟผ. อาจมีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำเพื่อให้มีช่องว่างรองรับน้ำจากอิทธิพลของพายุโนรู ตลอดจนปริมาณน้ำที่ยังไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้จาก http://water.egat.co.th/ หรือแอปพลิเคชัน EGAT Water และ EGAT One

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. ได้กระจายกำลังหน่วยงานทั่วประเทศสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเบื้องต้นได้เร่งมอบถุงยังชีพเกือบ 5,000 ชุด และน้ำดื่มกว่า 25,000 ขวด ไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ตาก น่าน ระยอง และเชียงใหม่ กฟผ. เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต