ผู้ชมทั้งหมด 960
กฟผ.เตรียมเสนอแผนลงทุนโซลาร์ฟาร์ม 50 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าใช้ในเหมืองถ่านหินแม่เมาะให้กระทรวงพลังงานพิจารณา หวังนำร่องปั้นเป็นโครงการแม่เมาะสมาร์ทซิตี้
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.มีแผนที่จะลงทุนพัฒนาโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปางขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ โดยกฟผ. จะใช้พื้นที่เหมืองถ่านหินเก่าที่ไม่ได้ดำเนินการขุดเจาะแล้วมาติดตั้งโซลาร์ฟาร์มซึ่งสามารถทำได้เลย เพราะมีพื้นที่อยู่แล้วประมาณ 500 ไร่ แค่ถมดินก็ดำเนินการได้ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในกิจการเหมืองฯ
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะต้องขออนุญาตกระทรวงพลังงานก่อน โดยตนเชื่อว่าจะได้รับการอนุมัติเพราะเป็นโครงการที่ดีที่ช่วยการลงทุนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เหมืองแม่เมาะอีกด้วย เพราะเป็นการใช้ภายในกิจการเหมืองไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบและไม่ได้อยู่ในแผนPDP โดยหากได้รับการอนุมัติก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานในการพัฒนาโครงการฯ
“ในอนาคตการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จะมุ่งการเติบโตไปที่พลังงานสะอาด หรือ พลังงานที่เขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) โดยจะเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มากขึ้น”
นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า ในระยะยาวเมื่อเหมืองแม่เหมาะได้หยุดทำการขุดถ่านหรือถ่านหินในพื้นที่หมดลงตามอายุของโรงไฟฟ้าแม่เหมาะ ซึ่งน่าจะใช้เวลาร่วม 30 ปีขึ้นไปนั้น ทาง กฟผ.ก็มีแผนเตรียมการพัฒนาเหมืองแม่เมาะเป็นโครงกาเมืองอัจฉริยะ (แม่เมาะสมาร์ทซิตี้) โดยจะทำให้แม่เมาะเป็นเมืองต้นแบบใช้พลังงานหมุนเวียน โดยจะมีทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 (MMRP2) ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ของ กฟผ. จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่รัฐจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ และบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP 2018 Rev.1) แล้ว ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในกระบวนการนำเสนอภาครัฐเพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการตามขั้นตอน โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ภายในเดือน ม.ค.2569 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โรงไฟฟ้า เป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานและเหมืองลิกไนต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด