“กฟผ.” หนุน “รัฐ” เปิดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ “Direct PPA”

ผู้ชมทั้งหมด 366 

“ผู้ว่าฯกฟผ.” หนุน “รัฐ” เปิดซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงรูปแบบ “Direct PPA” ดึงต่างชาติลงทุน Data Center ลั่นเร่งเตรียมพร้อมข้อมูลด้านเทคนิค ปรับปรุงระบบส่งพื้นที่เป้าหมายรองรับการลงทุน ย้ำพร้อมถก กกพ. วางอัตราค่าบริการให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย  

มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2567 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ โดยเห็นชอบกรอบการดำเนินการในปริมาณไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีลักษณะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า กฟผ.พร้อมสนับสนุนให้เกิดการลงทุนประสบความสำเร็จตอบสนองตามนโยบายรัฐบาล โดยพร้อมให้ข้อมูลด้านเทคนิค เช่น พื้นที่ที่มีความพร้อมด้านระบบส่ง และระบบควบคุม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การซื้อขายไฟฟ้าใน Direct PPA จะไม่มีผลกระทบ หรือ ระบบสามารถรองรับได้ เนื่องจากการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Direct PPA ยังต้องพึ่งพาสายส่งของการไฟฟ้า ฉะนั้นในเรื่องเทคนิคจำเป็นต้องปรับปรุงระบบให้มีความพร้อมรองรับ ซึ่งในแต่ละพื้นที่อาจมีความพร้อมไม่เท่ากัน ดังนั้นสำคัญที่สุดจะต้องตรวจสอบความพร้อมในแต่ละพื้นที่ และอาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในบางพื้นที่ด้วย

ส่วนด้านทางการค้า(commercial) กฟผ. ก็พยายามเตรียมข้อมูลพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ที่ใช้ Direct PPA และผู้ที่ไม่ได้ใช้ Direct PPA ให้เกิดความสมดุลและเกิดความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน

ขณะที่ อัตราค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) จะเป็นเท่าไหร่นั้น ยังเป็นเรื่องที่จะต้องหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เนื่องจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันเป็นสูตรคำนวณต้นทุนเฉลี่ยหารยาว ฉะนั้นผู้ที่ได้ใช้ประโยชน์จาก Direct PPA จะต้องมีส่วนร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนกลางด้วย โดยกฟผ.จะทำงานใกล้ชิดกับ กกพ.เพื่อหารือถึงข้อมูลสำคัญต่างๆให้เกิดความถูกต้อง และดำเนินการได้ทันตามเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งไว้

“โครงการนำร่อง Direct PPA ที่กำหนดกรอบไว้ไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์นั้น กฟผ.ไม่ได้มองว่าเป็นการสูญเสียโอกาสการลงทุน โดยโฟกัสที่ความเป็นธรรม วันนี้ไม่ได้มองแค่ Direct PPA แต่ดูถึงพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเข้ามาในระบบไฟฟ้าจำนวนมาก เราก็พยายามจะปรับปรุงระบบอย่างไรให้ทันสมัย หรือที่เรียกว่า Grid Modernization ซึ่งทุกอย่างจะต้องออกมารองรับ และกฟผ.เองก็มีพร้อมปรับปรุงระบบต่างๆให้รองรับ ก็เป็นความท้าทายที่ กฟผ.ต้องดำเนินการ”

สำหรับกรณีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024)” ที่มีบางฝ่ายกังวลเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ที่จะลดลงเหลือ 17% ในแผนPDP 2024 นั้น นายเทพรัตน์ ระบุว่า แผนดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่ง กฟผ.เป็นองค์กรของรัฐต้องดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าเป็นหลัก และ กฟผ.พร้อมสนับสนุนโยบายของภาครัฐ แต่อีกมิติหนึ่งนอกจากความมั่นคงแล้ว กฟผ.จะต้องดูแลความเป็นธรรมให้เกิดสมดุลด้วย