กฟผ. สร้างชื่อให้คนไทย ​คว้า 11 รางวัลสิ่งประดิษฐ์​ จากเวทีนานาชาติ KIDE2022

ผู้ชมทั้งหมด 1,380 

กฟผ. คว้า 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ 4 รางวัลพิเศษจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในเวที 2022 Kaohsiung International Invention and Design EXPO (KIDE 2022)​ 

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความมุ่งมั่นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม​พลังงาน​ไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดย กฟผ. คว้า 11 รางวัลจาก 7 ผลงาน ในเวที 2022 Kaohsiung International Invention and Design EXPO” (KIDE 2022) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน แบ่งเป็น 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ 4 รางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์ โครเอเชีย แคนาดา และเกาหลีใต้

รางวัลเหรียญทอง จากผลงานยานสำรวจใต้น้ำ เอ็ม ซี อาร์ เวอร์ชั่น 3 สำหรับใช้ในงานสำรวจใต้น้ำเพื่อลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ โดยสามารถสำรวจได้ที่ความลึกสูงสุดถึง 50 เมตร​ โดยผลงานนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์ด้วย ส่วนอีกผลงานคือ ชุดเครื่องมือติดตั้ง Nut Set ของ U-Bolt Suspension Clamp บนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่หลุดหลวม โดยไม่ต้องดับกระแสไฟฟ้าจึงไม่กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าส่งผลให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลพิเศษจากประเทศโครเอเชีย เช่นเดียวกับผลงานรถกระเช้าขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเพื่องานบำรุงรักษาสายส่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องไต่สายออกไปจึงช่วยลดเวลาซ่อมบำรุงและลดเวลาในการดับไฟฟ้า ซึ่งผลงานนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษจากประเทศแคนาดาเพิ่มเติมด้วย

รางวัลเหรียญเงิน จากผลงานระบบควบคุมตู้อบไล่ความชื้นผ่านสมาร์ทโฟนในงานซ่อมหม้อแปลงเครื่องมือวัด เพื่อช่วยตรวจจับค่าอุณหภูมิและความชื้นภายในท่อดูดอากาศจากหม้อแปลงเครื่องมือวัดแบบเรียลไทม์ โดยควบคุมการทำงานของตู้อบแบบออนไลน์ผ่าน Blynk Application และผลงาน Gas Heater ครอบจักรวาล ชุดอุปกรณ์ที่ช่วยในงานถอดและประกอบวาล์วของเครื่องกังหันก๊าซ (Turbine Valve) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงไฟฟ้าที่ใช้ Stud Bolt ยึดประกอบอยู่ จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในงานบำรุงรักษาและค่าเสียโอกาสจากการหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า

รางวัลเหรียญทองแดง จากผลงานหุ่นยนต์ทำความสะอาดรางน้ำใส เพื่อลดความเสี่ยงการพลัดตกน้ำขณะทำความสะอาดรางน้ำใสของระบบ SCU ในโรงไฟฟ้า โดยไม่ต้องหยุดเดินระบบเพื่อซ่อมบำรุง ทำให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลพิเศษจากประเทศเกาหลีใต้อีกหนึ่งรางวัล และผลงานหัวเจาะพิฆาตเพื่อแก้ปัญหาการเจาะเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำใต้ดินและแรงดันน้ำใต้ดินบริเวณที่ทิ้งดินเหมืองแม่เมาะ ทำให้สามารถเจาะหลุมได้ลึกถึง 150 เมตร แก้ปัญหาหลุมเจาะพังทลาย ตลอดจนลดความเสี่ยงที่เครื่องมือตรวจวัดติดในหลุมด้วย

“ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์โดย กฟผ. ขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไป” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวย้ำในตอนท้าย