ผู้ชมทั้งหมด 2,640
นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม และนายบุญส่ง พ่อค้าทอง ประธานมูลนิธิเขื่อนยันฮี ร่วมมอบเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ “เทใจดอทคอม” สมทบทุนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดซื้ออุปกรณ์สำหรับผลิตชุดหมวกป้องกันเชื้อ (Powered Air Purifying Respirator : PAPR) แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เป็นผู้รับมอบ
นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม กล่าวว่า ใน สถานการณ์โควิดได้เห็นพลังน้ำใจจากคนไทยโดยมีกลุ่มบุคคลและหน่วยงานต่างๆร่วมระดมทุนผ่านเทใจดอทคอมในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เทใจมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับมูลนิธิเขื่อนยันฮีและพนักงาน กฟผ. ในการเป็นสื่อกลางสำหรับการระดมทุนเพื่อผลิตชุดหมวกป้องกันเชื้อ (PAPR) ให้แก่บุคลากรทางแพทย์เพื่อต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากจนครบตามเป้า 1.1 ล้านบาทในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งต้องชื่นชมพนักงานจิตอาสาของ กฟผ. ที่ได้ใช้ศักยภาพในการนำนวัตกรรมและความรู้ในเชิงประดิษฐ์มาช่วยแก้ปัญหาของสังคมในช่วงวิกฤตนี้ หลังจากนี้เทใจดอทคอมก็จะติดตามความคืบหน้าในการผลิตและส่งมอบหมวกให้แก่ทีมแพทย์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการระดมทุนครั้งนี้ต่อไป
นายบุญส่ง พ่อค้าทอง ประธานมูลนิธิเขื่อนยันฮี กล่าวถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า มูลนิธิเขื่อนยันฮีและพนักงาน กฟผ. ได้รับแรงบันดาลใจจากโลกโซเชียลที่ได้แพร่ภาพแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเป็นลมในชุด PPE จากการตรากตรำงานอยู่หลายชั่วโมงจึงอยากมีส่วนร่วมในการผลิตหมวกป้องกันเชื้อดังกล่าว และขอบคุณพลังคนไทยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะส่งผ่านความห่วงใยและอำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอมจำนวน 1,109,300 บาท จะนำไปจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับผลิตชุดหมวกป้องกันเชื้อ (PAPR) จำนวน 200 ชุด สมทบกับของ กฟผ. เพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า นอกจากการผลิตตู้ตรวจโควิดมอบให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว กฟผ. ยังได้คิดค้นผลิตชุดหมวกป้องกันเชื้อ (PAPR) เพื่อร่วมปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ โดยในเบื้องต้นกำหนดผลิตจำนวน 300 ชุด ต่อมาเมื่อพนักงานต้องการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ด้วยการระดมทุนจากประชาชนซื้ออุปกรณ์สมทบก็นับเป็นเรื่องที่ดี และขอขอบคุณพลังน้ำใจจากคนไทยทั่วประเทศที่จะสามารถส่งมอบหมวกป้องกันเชื้อดังกล่าวแก่สถานพยาบาลต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 500 ชุด
ทั้งนี้การที่พนักงานเราผลิตได้เองทำให้มีต้นทุนอุปกรณ์การผลิตเพียงชุดละประมาณ 5,000 บาท ซึ่งถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ จะมีราคาถึงชุดละ 30,000 – 40,000 บาท ทั้งยังเป็นการสนับสนุนนวัตกรรมจากคนไทยเพื่อสามารถนำไปต่อยอดทางการแพทย์ได้ในอนาคต โดยหลังจากนี้ กฟผ. จะเร่งนำเงินทั้งหมดจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อผลิตชุดหมวกป้องกันเชื้อที่ได้มาตรฐาน ซึ่งหลังจากผ่านการทดสอบจากโรงพยาบาลชั้นนำต่าง ๆ แล้ว กฟผ. จะเร่งผลิตอย่างเต็มกำลังเพื่อส่งมอบให้บุคลากรด่านหน้าแทนความห่วงใยจากทุกท่านโดยเร็วที่สุด