ผู้ชมทั้งหมด 1,417
“ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส” ยังเป็นคำกล่าวที่หยิบยกมาใช้ได้ไม่ตกเทรนด์ โดยเฉพาะวิกฤตพลังงานราคาแพงที่มักจะหวนกลับมาสร้างผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงรวมถึงประเทศไทยแต่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตก็มักจะได้เห็น “น้ำใจคนไทย” เกิดขึ้นเสมอ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ได้เข้ามาหยิบยื่น “น้ำใจให้กับคนไทย” เพื่อฟันฝ่าวิกฤตพลังงานในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่า กฟผ.จะประสบปัญหาหขาดสภาพคล่อง จากการร่วมแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนไว้ชั่วคราว
วิกฤตพลังงานในรอบนี้ มีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2564 หลังจากประเทศไทย กำลังจะเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ฉุดรั้งการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากว่า 2 ปี ช่วงเวลานั้น ไทยเริ่มถูกซ้ำเติมจากวิกฤตราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจากมาตรการของกลุ่มโอเปกพลัส ที่คงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ก่อนจะเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในช่วงเดือน ก.พ.2565 ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอีกยกแผง ทั้ง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมถึงก๊าซหุงต้ม กลายเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนสินค้า และค่าครองชีพของประชาชนปรับเพิ่มขึ้น
อีกทั้ง ไทยยังประสบปัญหากำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง อันเป็นผลพวงมาจากช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมในช่วงเดือน เม.ย.2565 ทำให้ปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้ในประเทศหายไปจากระบบประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จนต้องนำเข้าเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงไปใช้เชื้อเพลิงประเภทใด ก็ยังทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าขยับขึ้น จนนำไปสู่การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft)
ร่วมแบกภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง
กฟผ. ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงเข้าไปช่วยรับภาระค่าไฟฟ้า เรื่องต้นทุนเชื้อเพลิง ตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.2564 จนถึงงวดเดือน เม.ย.2565 แทนประชาชนเป็นการชั่วคราว ประมาณ 60,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ทำให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนแล้ว 25,000 ล้านบาท
ปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงลดต้นทุน
โดยปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ทดแทนก๊าซฯ ในช่วงราคาก๊าซฯ ในตลาดโลกพุ่งสูง ระหว่างเดือนพ.ย.2564 – มี.ค.2565 สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 437.50 ล้านบาท และเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ออกจากระบบไปก่อน 1 ปี ระหว่างเดือนม.ค.– มี.ค.2565 สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 3,162.41 ล้านบาท
เตรียมนำเข้าLNG เกลี่ยต้นทุนค่าไฟ
ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน พ.ศ. 2565 กฟผ.จึงเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รูปแบบตลาดจร (Spot) จำนวน 2 ลำเรือ ในช่วงเดือนเม.ย.– พ.ค. 2565 ตามมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2565 โดยมีปริมาณนำเข้าประมาณ 65,000 ตันต่อลำเรือ เพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้า อีกทั้ง กรมธุรกิจพลังงาน คาดการณ์ว่า ช่วงเดือน พ.ค.นี้ จะมีปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้น การเข้าไปช่วยจัดหา LNG ของกฟผ.ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมความมั่นคงระบบพลังงานของประเทศ และทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น
ออกประกาศรับซื้อไฟชีวมวลเพิ่ม
ตลอดจน กฟผ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เฉพาะรายที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2565 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล คาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศลงได้ และยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษชานอ้อย เนื่องจากเกษตรกรหันมาขายเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทน
อัดแคมเปญประหยัดพลังงานเปิดล้างแอร์ฟรี
ยิ่งไปกว่านั้น กฟผ.ยังมีชวนคนไทยร่วมใจประหยัดพลังงานภายใต้แคมเปญ “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงานหาร 2” ผ่านโครงการ “ล้างแอร์ช่วยชาติ Clean your air, Care your life” ร่วมกับสมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทยให้บริการล้างแอร์ฟรีแก่คนไทยทั่วประเทศเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านทางเว็บไซต์ กฟผ. www.egat.co.th ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2565 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการนี้ กระแสตอบรับจากประชาชนดีมาก แห่งจองสิทธิ์เต็มโควตาเพียงแค่ 4 ชั่วโมงแรกหลักเปิดรับลงทะเบียน
ทั้งนี้ การล้างแอร์ทุก 6 เดือน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างน้อยถึงร้อยละ 10 ทำให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานในภาพรวมของประเทศได้ประมาณ 1.3 ล้านหน่วยต่อปี