ผู้ชมทั้งหมด 1,400
“พลังงานหมุนเวียน” กำลังกลายเป็นเชื้อเพลิงผลิต “กระแสไฟฟ้า” ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เพราะถูกจัดว่าเป็น “พลังงานสะอาด” ที่สอดรับกับเทรนด์ของโลก ในการมุ่งสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อแก้ไขปัญหา “สภาวะโลกร้อน” และยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายในเวทีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่รัฐบาลไทย ได้ร่วมประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปีค.ศ. 2065 ซึ่งถือเป็นกติกาสากลที่ต้องดำเนินการ เพื่อไม่ให้ไทยถูกกีดกันทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต
ดังนั้น แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022) ที่ภาครัฐ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฯนั้น ได้ประกาศทิศทางปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ช่วงปี 2565-2573 ตามแผน PDP 2018 Rev.1 (ฉบับปัจจุบัน) กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 5,203 เมกะวัตต์ และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ช่วงปี 2567-2573 ด้วยทิศทางของนโยบายดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่า นับจากนี้ไประบบผลิตไฟฟ้าของไทยจะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ที่ยังไม่เสถียร จึงอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลักได้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนที่จะป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้ามากขึ้น โดยการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) ด้วยการลงทุนและศึกษาระบบกักเก็บพลังงาน เข้ามาบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน ช่วยลดความผันผวนและสร้างความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม
กฟผ. จึงได้พัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ที่เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า หรือ Grid Scale นำร่องใช้งานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังผลิตไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) และที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิตไฟฟ้า 16 MWh รวมทั้งสิ้น 37 MWh ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสามารถตอบสนองต่อระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วเพราะจ่ายกำลังไฟฟ้าได้ภายในเวลาไม่เกิน 200 มิลลิวินาที จึงช่วยรักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ณ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 โดยระบุว่า กฟผ. เลือกนำร่องติดตั้ง BESS ในพื้นที่ทั้งสองแห่งนี้ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่เชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจำนวนมากจึงมีความผันผวนค่อนข้างสูง
ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนป้อนเข้าสู่ระบบในพื้นที่ดังกล่าว ประมาณ 251 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลม 180 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฯ อีก 73 เมกะวัตต์ ซึ่งในอนาคตจะกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ ประกอบกับพื้นที่ภาคอีสาน เป็นพื้นที่ แดดดี มีลมแรง จึงเหมาะที่จะมีการลงทุนติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจาก โซลาร์ฯ และลม
อย่างไรก็ตาม การติดตั้ง BESS จะทำหน้าที่กักเก็บพลังงานในช่วงที่ระบบมีความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) และจ่ายไฟฟ้าคืนสู่ระบบเพื่อชดเชยกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนในช่วงบ่าย ลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในช่วงหัวค่ำ และลดความหนาแน่นของสายส่งกำลังไฟฟ้า โดยแบตเตอรี่ที่นำมาใช้ใน BESS เป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ที่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากในพื้นที่จำกัด อีกทั้งสามารถจ่ายไฟและชาร์จไฟได้เร็วโดยออกแบบให้มีอายุการใช้งานได้นานถึง 15 ปี
“ปัจจุบัน ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ยังสูงอยู่ กฟผ.จึงลงทุนศึกษาในลักษณะของโครงการขนาดเล็ก ซึ่งทั่วโลก คาดการณ์ว่าใน 5 ปีข้างหน้าแนวโน้มแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน จะถูกลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 200 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 400-450 kWh ซึ่งจริงๆแล้วราคาแบตเตอรี่จะถูกลงกว่านี้ แต่เนื่องจากเกิดปัญหาสงคราม และความต้องการใช้รถEV ที่เพิ่มขึ้นในยุโรป ทำให้เกิดการแย่งชิงแร่ลิเทียมฯ และผลักดันให้ราคาขยับขึ้นจากที่ลดลงไปก่อนหน้านี้ ฉะนั้น กฟผ.จะลงทุนติดตั้ง BESS ในโครงการที่มีขนาดใหญ่ก็ต่อเมื่อราคาแบตเตอรี่ถูกลง หรือ อยู่ในระดับที่จะเอื้อให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้กับพลังงาน conventional”
ทั้งนี้ กฟผ.มีแผนลงทุนระบบ BESS ให้ครบ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 โดยจะเป็นการติดตั้งที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 3,000 เมกะวัตต์ และติดตั้งที่โครงการ Floating Solar อีก 2,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ แห่งที่ 3 ของประเทศ และเป็นระบบกักเก็บพลังงานด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวว่าโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นระบบไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีศักยภาพในการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยสูบน้ำจากเขื่อนด้านล่างขึ้นไปกักเก็บไว้ยังอ่างพักน้ำตอนบน เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงหรือไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียรก็สามารถปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากลับลงมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที
“โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มีส่วนสำคัญในการช่วงลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(Peak)ของประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน หากจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาผลิตไฟฟ้าจะคิดเป็นต้นทุนค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อหน่วย แต่หากผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟพลังน้ำแบบสูบกลับ จะมีต้นทุนค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่อย ก็จะช่วยประเทศประหยัดต้นทุนผลิตไฟฟ้า ประมาณกว่า 500 ล้านบาทต่อปี”
ปัจจุบัน ประเทศไทย มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับทั้งสิ้น 3 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,531 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ (แห่งที่ 1) , เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ (แห่งที่ 2) และโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 (แห่งที่ 3)
ทั้งนี้ ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยประเทศผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนต่ำ และเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า กฟผ. จึงมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพิ่มเติม อีก 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 2,501 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ประกอบด้วย เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังการผลิต 801 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา คาดว่า จะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2578 และอยู่ระหว่างการศึกษาที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ กำลังการผลิต 900 เมกะวัตต์ รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ อีก 800 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างหาพื้นที่โครงการที่เหมาะสม
การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ที่เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า และการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ จะช่วยเสริมศักยภาพโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต และยังผลักดันให้ กฟผ. บรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย