กฟผ. – พันธมิตร ร่วมรังสรรค์วิถีน่านเมืองเก่าที่มีชีวิต ปลอดมลพิษ หนุนท่องเที่ยวยามราตรี

ผู้ชมทั้งหมด 14,034 

จ.น่าน ร่วมกับ กฟผ. และพันธมิตร จับมือเดินหน้า “น่าน Light Up & Smart City” ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างสำหรับแหล่งท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่า ประเดิมวัดมิ่งเมือง วัดศรีพันต้น วัดสวนตาล และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน พร้อมบริการยานพาหนะไร้มลพิษ ทั้งรถรางระบบไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และ EV Charger คาดลดใช้พลังงานได้กว่า 4,600 หน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2 กว่า 6 ตัน CO2 ต่อปี สร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้านในพื้นที่ 1.7 ล้านบาทต่อปี

วานนี้ (28 พฤษภาคม 2566) นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว “น่าน Light Up & Smart City” ระหว่างนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองน่าน จ.น่าน

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 54 ปี กฟผ. มุ่งมั่นดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ และการดูแลชุมชนให้อยู่ดีมีสุข จึงสนับสนุนเทศบาลเมืองน่านใช้นวัตกรรมพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างคุณภาพอากาศที่ดี เพิ่มความปลอดภัย รวมถึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วย 3 แนวทางการดำเนินงาน คือ

1) สนับสนุนระบบไฟฟ้าส่องสว่างประสิทธิภาพสูงในเวลากลางคืน สำหรับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ โดยติดตั้ง LED Light Up ณ วัดมิ่งเมือง วัดศรีพันต้น วัดสวนตาล และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ในระยะแรก

2) จัดหารถรางชมเมืองระบบไฟฟ้า และรถสามล้อไฟฟ้า เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

3) ติดตั้ง EV Charger สำหรับชาร์จรถรางไฟฟ้าและการให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน EleXA ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตรงข้ามวัดภูมินทร์

สำหรับการลงนามฯ ในครั้งนี้ มีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะลดการใช้พลังงานลงได้ 4,626 หน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2 6.23 ตัน CO2 ต่อปี และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาทต่อปี

นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า จ.น่าน มุ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ และพัฒนาจังหวัดให้เป็น “เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และยั่งยืน” เพื่อรองรับและบริการนักท่องเที่ยว เนื่องด้วยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางในฝันที่ยังคงไว้ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สุขภาพ เกษตร ตลอดจนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ปัจจุบัน ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อน จ.น่าน สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UCCN) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) นำไปสู่เมืองที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจหรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับสมาชิกทั่วโลก การดำเนินโครงการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวนี้ ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดจนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของ จ.น่าน ที่มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวเสริมว่า เทศบาลเมืองน่านได้พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 7 มิติ คือ เมืองสะอาด เมืองสิ่งแวดล้อมที่ดี เมืองปลอดภัย เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม เมืองแห่งสังคมคุณภาพธรรมาภิบาล เมืองแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ และเมืองอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “เมืองน่านน่าอยู่” และให้สามารถรองรับการขยายตัวและเสริมสร้างความยั่งยืนของเมืองในอนาคต ซึ่งพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองน่าน ได้รับการประกาศเป็นเขตเมืองเก่าน่าน เนื่องจากมีภูมิทัศน์ที่มีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถาปัตยกรรม จึงได้มีการปรับภูมิทัศน์เมือง จัดสร้างรั้วเตี้ยให้มองเห็นความงดงาม นำสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงดิน และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัดให้มีรถรางชมเมืองในเวลากลางวัน และถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านในเวลากลางคืน ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ เทศบาลเมืองน่านยังร่วมมือกับนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดลองออกแบบแสงสว่าง รวมถึงทดลองวิ่งรถรางในเวลากลางคืน และร่วมกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงภูมิทัศน์ข่วงเมืองน่าน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน ได้ขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด “เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ Nan Municipality to Smart City” โดยร่วมมือกับ กฟผ. และหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาเมืองน่านเป็นเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง