กฟผ. ผนึก “Big Brothers” หนุนเลี้ยงผึ้งชันโรง สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืน

ผู้ชมทั้งหมด 895 

กฟผ.จับมือ “Big Brothers” ประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมเลี้ยงผึ้งชันโรง หนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ สู่วิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างชุมชนยั่งยืน มุ่งเสริมอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชุมชน เล็งขยายผลสำเร็จไปยังเขตเขื่อนต่าง ๆ ของ กฟผ. ทั่วประเทศ

นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือฯ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม…น้ำผึ้งชันโรง” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในเครือข่าย Big Brothers โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และนายปรีดา วัชรเธียรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในกลุ่มธุรกิจเอสซีจีเคมิคอลส์ (SCGC) ร่วมเป็นประธาน เปิดงาน พร้อมนี้ กฟผ. ได้เสวนาในหัวข้อ “แนวคิดของพี่เลี้ยง ต่อการส่งเสริม การเลี้ยงผึ้งชันโรง” ณ ห้องบอลรูม 3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ กล่าวในช่วงของการเสวนาว่า กฟผ. มีหน้าที่หลักคือผลิตไฟฟ้าและดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ อีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือการรับผิดชอบสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ กฟผ. แม่เมาะ กำลังพัฒนาโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) เพื่อเป็นต้นแบบของเมืองน่าอยู่ ด้วยนวัตกรรมด้านต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนมาโดยตลอด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เนื่องจากในอนาคตเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะต้องถูกปิดตัวลงตามอายุการใช้งาน ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการท่องเที่ยว

รวมถึงงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่จะหายไปด้วย กฟผ. จึงมีความตั้งใจยกระดับให้ชุมชนแม่เมาะสามารถรักษา พร้อมพัฒนาเมืองแม่เมาะให้เกิดความยั่งยืน สามารถส่งต่อให้แก่ลูกหลานได้ ซึ่งการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงและการสร้างแบรนด์น้ำผึ้งชันโรงลำปาง จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างรอยยิ้มและความสุขของกลุ่มชุมชน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งแต่เติมมีการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงในชุมชนบ้างแล้ว หากมีการพัฒนาให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนก็จะเป็นส่วนหนึ่งใน Ecosystem ที่จะส่งเสริมให้แม่เมาะเมืองน่าอยู่ประสบความสำเร็จ และหากการเลี้ยงผึ้งชันโรงประสบความสำเร็จ สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแล้ว กฟผ. ก็พร้อมขยายผลไปสู่เขตเขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. ทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ Big Brothers” หรือเครือข่าย Social Enterprise ประกอบด้วย ภาครัฐและเอกชน ทำงานเพื่อชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี การส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงนี้ ได้รับความร่วมมือของสมาชิกเครือข่าย 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสนับสนุนการวิจัย และกลุ่มพี่เลี้ยงพัฒนาการเลี้ยงผึ้งชันโรงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงใน 3 พื้นที่ ได้แก่

1) พื้นที่ จ.ระยอง รับผิดชอบโดยบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC)   บริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และบริษัท อีสเทิร์น ฟลูอิด ทรานสปอร์ต จำกัด

2) พื้นที่ จ.สมุทรปราการ   ประกอบด้วย ชุมชนบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง รับผิดชอบโดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

และ 3) พื้นที่ จ.ลำปาง รับผิดชอบโดย กฟผ. ซึ่งเป้าหมาย ความร่วมมือของ Big Brothers ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงลำปาง” เป็นที่รู้จักในวงกว้างมาก ยิ่งขึ้น และพัฒนาขีดความสามารถในการเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงให้มีปริมาณมากกว่า 5 ลิตรต่อวัน