ผู้ชมทั้งหมด 114
กฟผ. จับมือ กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ GISTDA และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลภาคพื้นดินและอวกาศ วิเคราะห์สาเหตุมลพิษและฝุ่น PM2.5 มุ่งกำหนดนโยบายปรับปรุงคุณภาพอากาศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี
กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศ “Breathe Our Future: Space & Sensor Synergy” รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
โดยการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศในครั้งนี้ ทั้ง 5 หน่วยงานได้บูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ให้ตรงจุดมากขึ้น นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านคุณภาพอากาศของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และส่งเสริมการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ เพื่อลมหายใจสะอาดและสุขภาพที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/thumbnail_S__227459075.jpg)
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยวางโครงสร้างพื้นฐานของยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาป การยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การนำชีวมวลมาผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการเผาในที่โล่ง และสนับสนุนหน่วยงานภาคีเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Sensor for ALL) เพื่อหาสาเหตุจากแหล่งการเกิดฝุ่น และใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อออกนโยบายแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การป้องกันที่แหล่งกำเนิดเป็นสิ่งจำเป็นในการลดมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ในขณะที่การขยายความร่วมมือและการพัฒนาเครื่องมือก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้วจำนวน 100 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 69 จังหวัด และคาดว่าจะมีครบทุกจังหวัดในปี 2569 พร้อมร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดฝุ่นจากแหล่งที่มา และสื่อสารข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัดแต่ละชนิด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด
นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า GISTDA มีดาวเทียมที่สามารถติดตามความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศรายชั่วโมง จึงสามารถช่วยสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิดได้ พร้อมกันนี้ยังได้ใช้ AI ในการพยากรณ์และสื่อสารถึงประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” โดย GISTDA มุ่งหวังและตั้งเป้าหมายที่จะผสานการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากดาวเทียมและภาคพื้นดิน เพื่อให้ได้สาเหตุการเกิดฝุ่นจากแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และส่งผลให้เกิดนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืนมากขึ้น
รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยวางนโยบายเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนานวัตกรรม Sensor for ALL ที่เดินหน้าต่อเนื่องมาแล้ว 7 ปี โดยติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ และกระจายฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีแผนที่จะใช้ Sensor สอดประสานความแม่นยำของข้อมูลกับภาคีเพื่อขยายผลการตรวจวัดตั้งแต่ภาคพื้นดินสู่อวกาศต่อไป
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/thumbnail_S__227459077-1024x665.jpg)
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ดำเนินภารกิจผลิตไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม การดูแลคุณภาพอากาศที่ปล่อยจากการผลิตไฟฟ้าจึงถูกควบคุมดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้การปล่อยมลสารจากโรงไฟฟ้าดีกว่าเกณฑ์ค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งผลักดันการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ การนำร่องใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมมาตรฐานฉลากเบอร์ 5 การสนับสนุนจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 การติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ City Tree การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น และสนับสนุนภารกิจป้องกันไฟป่าและหมอกควัน โดย กฟผ. ได้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตั้ง Sensor for All ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาและลด PM2.5 ได้ จึงต้องผนึกกำลังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยกันนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทบทวนและกำหนดมาตรการเสริมในการลดมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ของประเทศต่อไป