ผู้ชมทั้งหมด 240
กฟผ. ร่วมเวทีนานาชาติ IEEE International Smart Cities Conference ครั้งที่ 10 โชว์ศักยภาพด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน มุ่งยกระดับและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะควบคู่กับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมคณะ กฟผ. ร่วมพิธีเปิดการประชุมเมืองอัจฉริยะนานาชาติครั้งที่ 10 หรือ 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE ISC2 2024) ซึ่งสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) จัดเป็นครั้งแรกของไทยและอาเซียน ภายใต้แนวคิด “เมืองอัจฉริยะ : การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ” (Smart Cities: Revolution for Mankind) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก ผ่านเวทีการเสวนาและการบรรยายพิเศษ อีกทั้งมีการจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่น่าสนใจ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567
นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิด โดยระบุว่า กฟผ. มีโครงการพัฒนาเมืองภายใต้แนวคิด Smart City โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ที่อาศัยในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งมีโครงการที่โดดเด่น เช่น โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) จ.ลำปาง เป็นการเตรียมพร้อมหลังจากปิดเหมืองแม่เมาะในอนาคต สู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model) และโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด (Smart Grid) ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้นแบบการนำสมาร์ทกริดมาใช้บริหารจัดการระบบไฟฟ้า นำไปสู่การพัฒนาแม่ฮ่องสอนให้เป็นต้นแบบเมืองสีเขียวที่มีความมั่นคงในด้านพลังงาน
นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กฟผ. ร่วมเสวนาในหัวข้อ Sustainable Innovation for People-Centric Smart City ว่า กฟผ. มีเป้าหมายในการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดในอนาคต โดยมีแผนจะปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะภายในปี 2585 ซึ่งกระทบกับการจ้างงานในพื้นที่ กฟผ. จึงเดินหน้าโครงการ Mae Moh Smart City พัฒนาโดยเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่
1) Smart Environment พัฒนาเทคโนโลยีตรวจสอบคุณภาพอากาศ การจัดการขยะทางการเกษตร และพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform) ตัวช่วยตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากร
2) Smart Energy มุ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวล ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
และ 3) Smart Economy สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนผ่านการฝึกอบรมการทำเกษตรกรรมแนวตั้งและเกษตรอินทรีย์ สำหรับแผนระยะยาวนั้นเน้นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (S-Curve Projects) เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) และการสร้างเขตอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว เป็นต้น