ผู้ชมทั้งหมด 454
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เร่งศึกษา และพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้วยังช่วยสนับสนุนให้ไทยสู่การเป็น Net Zero อีกด้วย
ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน (Hainan Energy Data Center) ณ มณฑลไห่หนาน หรือ ไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่กฟผ. ศึกษาดูงาน เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. ระบุว่า ทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียวส่งผลให้ข้อมูลด้านพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยวางแผนการพัฒนาพลังงาน เพื่อรองรับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดในการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำหรับศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนานนั้นถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน อาทิ Hainan Energy Guarantee Operation Dispatching Monitoring System Platform แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลด้านพลังงานต่าง ๆ ของมณฑลไห่หนาน ทั้งการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งพลังงานอื่น ๆ รวมถึงข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอดีต เพื่อช่วยในการกำหนดแนวทางการวางแผนพัฒนาพลังงานต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
Hainan Free Trade Port (Energy) Economic Insight Platform แพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมในมณฑลไห่หนาน ร่วมกับข้อมูลทางเศรษฐกิจและการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ สำหรับจัดทำนโยบายที่แก้ปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรม และHainan Energy and Carbon Intelligent Management Platform แพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ต่างๆ
สำหรับประเทศไทย กฟผ. ได้จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) นำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผล จากนั้นจึงนำผลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เป็นการนำข้อมูลด้านพลังงานมาใช้วิเคราะห์และวางแผน ตอบโจทย์การบริหารจัดการพลังงานสีเขียวในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
“ข้อมูลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระยะเริ่มต้นมาจาก SPP เป็นหลัก หากในอนาคต สามารถนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมประมวลผล จะยิ่งทำให้การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศมีความแม่นยำสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ระบบกักเก็บพลังงานต้นทุนต่ำ
นายธวัชชัย กล่าวว่า นอกจากการลงทุนศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนานแล้วจีนยังมีแผนปรับปรุงโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้น เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydropower) จำนวนมาก เนื่องจากเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำเมื่อเทียบกับระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบอื่นๆ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยประมาณ 2 บาทต่อหน่วย ช่วยลด คาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชนิดนี้ใช้หลักการเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วไป คือเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ แล้วปล่อยน้ำผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนไฟฟ้าจากพลังลมหรือแสงอาทิตย์ที่ขาดหายไปได้อย่างทันท่วงที
การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับของกฟผ. นั้นปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง รวม 1,531 เมกะวัตต์ ประกอบด้วน โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนภูมิพล จ.ตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
กฟผ.เล็งอัดงบ 9 หมื่นล้านลงทุนโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับ 3 แห่ง
ทั้งนี้เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานกฟผ.ยังมีแผนลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในอนาคตเพิ่มอีก 3 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิตรวม 2,480 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ปี 2577 โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 900 เมกะวัตต์ กำหนด COD ปี 2579 โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนกะทูน จ. นครศรีธรรมราช กำลังผลิต 780 เมกะวัตต์กำหนด COD ปี 2580 ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ หรือ Energy Storage System
“สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ กฟผ. ต้องเร่งพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไปจากระบบ ซึ่งการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในต้นทุนที่เหมาะสม ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ”
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า หากผลการศึกษาโครงการดังกล่าวสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอเข้าบอร์ด กฟผ. เห็นชอบ จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน หากสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) และผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ ทางกระทรวงพลังงานจะส่งเรื่องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะรวบรวมความเห็น เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป