ผู้ชมทั้งหมด 854
กฟผ. จับมือ TDEM ภายใต้บริษัทผลิตรถยนต์โตโยต้าผสานความร่วมมือเริ่มต้นศึกษาการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำไปสู่ยานยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ การจัดการขยะแบตเตอรี่แบบครบวงจรกรอบเวลา 1 ปี ผลักดันประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
เมื่อวัน 5 ตุลาคม 2563 ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายทัตสึยะ ฮายาคาวะ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน เพื่อผนึกกำลังความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยกับหน่วยงานภาคเอกชนชั้นนำระดับโลก ในการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำ ตอบสนองต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ห้องประชุม ชั้น 18 อาคาร ท.103 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า นอกจากการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดในภาคการผลิตไฟฟ้าภาพรวมของประเทศ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับหลักคิด ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ในการสนับสนุนและส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ และก้าวไปข้างหน้าอีกขั้น ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วมศึกษา ระหว่าง กฟผ. และ TDEM ในการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ครอบคลุมการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า โดยจะร่วมกันศึกษาจุดติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่ศักยภาพรองรับนโยบายการส่งเสริมการขนส่งสีเขียว และศึกษาการจัดการขยะแบตเตอรี่แบบครบวงจร ด้วยวิธี 3 R : Rebuilt Reuse และ Recycle ในกรอบระยะเวลา 1 ปี เพื่อศึกษาโอกาสทางธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการบริหารทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลการศึกษาจะนำไปสู่การขยายผลที่เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อองค์กร ประเทศชาติ และประชาชนต่อไป
นายทัตสึยะ ฮายาคาวะ รองประธานกรรมการบริหาร TDEM กล่าวว่า โตโยต้าเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้พันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า 2050 การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมรุ่นใหม่ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่โตโยต้าให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ ในอีกทางหนึ่งก็ต้องมั่นใจว่าขยะแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานต้องได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน