ผู้ชมทั้งหมด 639
กฟผ. จับมือ 4 มหาวิทยาลัย และ สอศ. ลุยปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศ 4 ภาค พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนด้วยเทคโนโลยี ผลักดันนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศให้สำเร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับ 4 มหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สอศ. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุลอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ตามนโยบายของประเทศ โดย กฟผ. มีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี และบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี โดยจะช่วยดูดซับเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1.2 ล้านตัน CO2 ต่อปี เป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อน ซึ่งสถาบันการศึกษาถือเป็นพันธมิตรเครือข่ายที่สำคัญในการมีส่วนผลักดันไปสู่เป้าหมายได้ตามที่ตั้งไว้ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือ ระหว่าง กฟผ. กับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะร่วมกันส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทั้งทางบกและทะเล พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและป่าไม้ รวมถึงวิจัยเพื่อหาวิธีการใหม่ๆ ในการเพิ่มศักยภาพการดูดซับเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปลูกและบริหารจัดการป่า ด้านความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และ สอศ. จะดำเนินการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ด้วยการสนับสนุนการเพาะพันธุ์กล้าไม้ และส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน 4 ภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อขยายผลพื้นที่เกษตรและป่าไม้ยั่งยืนสู่ชุมชนและสังคมวงกว้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความร่วมมือเพื่อเป้าหมายในการรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนอย่างยั่งยืน