ผู้ชมทั้งหมด 494
กฟผ. ผนึก สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ม.เชียงใหม่ ลงนามสัญญารับทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ในโครงการศึกษาการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตจากยิปซั่ม FGD ร่วมกับการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
วานนี้ (7 กรกฎาคม 2565) นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีลงนามสนับสนุนทุนวิจัย ในโครงการศึกษาการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตจากยิปซั่ม FGD ร่วมกับการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมี ดร.นรินทร์ เผ่าวณิช ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. เป็นผู้แทน กฟผ. ร่วมลงนามในสัญญากับ รศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ หัวหน้าคณะทำงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะผู้วิจัย ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานกลาง กฟผ. จ.นนทบุรี
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้เป็นโครงการนำร่องที่สำคัญในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี Carbon Capture ให้สามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้จากการผลิตไฟฟ้า มาใช้ร่วมกับวัสดุพลอยได้จากกระบวนการกำจัดมลสารของโรงไฟฟ้าหรือยิปซั่ม เพื่อพัฒนาเป็นวัสดุที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้คือแคลเซียมคาร์บอเนต การสนับสนุนการวิจัยนี้จึงมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ด้วยการส่งเสริมและขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) อย่างเป็นรูปธรรม
ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี กล่าวเสริมว่า ทุนสนับสนุนการวิจัยในครั้งนี้ มีระยะเวลาในการศึกษาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 – 31 ธันวาคม 2566 เป้าหมายในการศึกษาประสิทธิภาพและกระบวนการสังเคราะห์แคลเซียมคาร์บอเนต จากยิปซั่ม FGD ที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้า เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์แคลเซียมคาร์บอเนตบริสุทธิ์ (CaCO3) นำกลับไปใช้ในกระบวนการกำจัด
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (กระบวนการ FGD) ของโรงไฟฟ้า ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าที่เป็นสาเหตุหนึ่งของสภาวะโลกร้อน พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี และเศรษฐศาสตร์ในกระบวนการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต ให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป