“กฟผ.” จัดบรรยายให้ความรู้ “ทีมวิศวกร-ช่างอาสาฯ” ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 4-5 เม.ย. นี้

ผู้ชมทั้งหมด 149 

กฟผ.จัดบรรยายให้ความรู้ “แนวทางการตรวจสอบอาคาร หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว” ให้กับทีมวิศวกรและช่างอาสา กฟผ. ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหาย ระหว่าง 4-5 เมษายน นี้ วางเป้าตรวจสอบครอบคลุมกว่า 40 โรงเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นายเทพรัตน์  เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา เป็นประธานเปิดการบรรยาย “แนวทางการตรวจสอบอาคาร หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เพื่อเตรียมความพร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนในสังกัด สพฐ.” เพื่อให้ทีมวิศวกรและช่างอาสา กฟผ. กว่า 160 คน มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการตรวจสอบสภาพอาคารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติการจริงในวันที่ 4-5 เมษายนนี้ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างอาคารโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม จำนวนกว่า 40 โรงเรียน ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา

โดยมี ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ สพฐ. นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.) นายไชยยศ ตั้งวรกุลชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน (ชยย.) ผู้บริหาร กฟผ. คณะกรรมการมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา คณะกรรมการสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร วิศวกรและช่างอาสา กฟผ. ร่วมรับฟังการบรรยาย ณ หอประชุมออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568

นายเทพรัตน์  เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. และประธานมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา เผยว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับอาคารสาธารณะที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมากเป็นอันดับแรก ต้องขอขอบคุณในน้ำใจของวิศวกรและช่างอาสา กฟผ. ทุกคนที่รวมกลุ่มกันช่วยเหลือสังคมด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือในการทำประโยชน์และสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม เพื่อให้ประชาชนกลับมาสู่วิถีชีวิตตามปกติโดยเร็ว สำหรับองค์ความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ นอกจากวิศวกรและช่างอาสาจะนำไปใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างอาคารของโรงเรียนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบอาคารที่พักอาศัยหรืออาคารที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ทำให้อาคารของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. หลายแห่งได้รับความเสียหายทั้งในระดับปานกลางและระดับรุนแรง อีกทั้งวันที่เกิดเหตุเป็นช่วงการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 4 หากจัดการสอบล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ที่ให้ความสำคัญและช่วยเหลือยามฉุกเฉิน เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ไม่สะดุด สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างปลอดภัย

ศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา นับเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับอาคารต่าง ๆ ครั้งใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่ามีความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวมากน้อยเพียงใด การสร้างอาคารผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ โดยอาคารที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ อาคารสูงซึ่งควรได้รับการตรวจสอบบริเวณชั้นกลางและชั้นล่าง อาคารที่มีพื้นท้องเรียบไร้คาน เช่น อาคารจอดรถ และอาคารที่ทำการต่อเติมและทำทางเดินเชื่อมต่อกัน สำหรับอาคารโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ส่วนใหญ่ไม่ใช่อาคารสูง เป็นอาคารที่ชั้นล่างเปิดโล่งและมีปล่องบันไดซึ่งนับเป็นจุดที่แข็งแรงของอาคาร ในการตรวจสอบควรเน้นเสาที่อยู่ห่างไกลจากปล่องบันได

ด้าน นายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ เลขาธิการมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา และอดีตนายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า อาคารบางแห่งดูเหมือนว่ามั่นคงแข็งแรง แต่โครงสร้างด้านในอาจมิได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น การประเมินว่าอาคารมีความปลอดภัยหรือไม่ ต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งนี้ การแบ่งระดับความเสียหายขั้นต้นของอาคารสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ไม่เสียหายหรือเสียหายเล็กน้อย ระดับ 2 เสียหายปานกลาง สามารถใช้งานอาคารได้บางส่วนหรือทั้งหมด และระดับ 3 เสียหายรุนแรง อาคารอาจพังถล่มได้ สำหรับทีมวิศวกรและช่างอาสาที่จะเข้าตรวจสอบอาคารโรงเรียนสังกัด สพฐ. จะใช้วิธีการตรวจสอบแบบพินิจทางกายภาพ (Visual Inspection) และเครื่องมือตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ร่วมกับการ Checklist ตามจุดต่าง ๆ ของอาคาร เช่น เสา คาน ผิวผนังทั้งภายใน-ภายนอก กระจก ลิฟต์ สายไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า ฯลฯ