กฟผ. คว้า 6 รางวัล SOE Awards ตอกย้ำบทบาทรัฐวิสาหกิจดีเด่น มุ่งพัฒนาพลังงานของประเทศด้วยนวัตกรรม

ผู้ชมทั้งหมด 694 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานใน “งานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565” ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่าง ยั่งยืน (Grow Green Balance)” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในโอกาสนี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร กฟผ. ร่วมรับมอบรางวัล โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจชั้นนำต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ สำหรับในปี 2565 กฟผ. ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 6 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลจากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของ สคร. หรือ State Enterprise Assessment Model: SE-AM ได้แก่ รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล และรางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน 

สำหรับรางวัลจากการส่งเข้าประกวด ได้แก่ รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากโครงการ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร (Hydro-Floating Solar Hybrid at Sirindhorn Dam) ที่ กฟผ. ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผิวน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด 2 พลังงาน จากพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และนำพลังน้ำจากเขื่อนมาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงหรือในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตันต่อปี ตอบโจทย์พลังงานสะอาด ช่วยลดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ กฟผ. มีแผนพัฒนาโครงการบนพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. 9 แห่ง รวม 16 โครงการ

รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น (ประเภทเชิดชูเกียรติ) จากความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาระบบ Smart Energy Digital Platform สำหรับผู้ใช้พลังงานในโรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม” เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในโรงงาน (Asset Management) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบของ กนอ. และพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) การเชื่อมต่อ   รองรับการบริหารจัดการโหลด (Demand Response) การบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) และการบริหารจัดการรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicles) เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ (ชมเชย) จากโครงการการบริหารจัดการพลังงาน ERC Sandbox และ ENZY Platform สำหรับรองรับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะเพื่อช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า ให้สามารถติดตามและควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถทราบถึงข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทั้งค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ตรวจสอบค่าไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ผ่านการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือหรือไลน์ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้นำร่องการใช้งาน ENZY Platform ภายในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สุดท้าย รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม (ชมเชย) จากโครงการ “การถอดรหัสสัญญาณความสั่นสะเทือน ค้นหาแบริ่งในโรงไฟฟ้าที่มีความเสียหายในระยะเริ่มต้น” ซึ่งเป็นโปรแกรมตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร ด้วยการถอดรหัสสัญญาณความสั่นสะเทือนในการค้นหาแบริ่ง (Bearing) ในโรงไฟฟ้าที่มีความเสียหายในระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยวางแผนการดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายที่จะลุกลามต่อไป ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของเครื่องจักร และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องจักรได้หลายสิบล้านบาทต่อปี รวมไปถึงเป็นข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการเดินเครื่องและวางแผนการบำรุงรักษาที่เหมาะสมได้ล่วงหน้า