กฟผ. คว้ารางวัลดาวรุ่งองค์การคาร์บอนต่ำ

ผู้ชมทั้งหมด 763 

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. รับรางวัลดาวรุ่ง โครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business Index หรือ LCSi)  ประจำปี 2564 โดยมีนายเกียรติชาย ไมตรีวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายธุรกิจที่มีการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต 

โดยมีแนวคิดรากฐานมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาที่ยั่งยืน 3 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ในด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายเกียรติชาย ไมตรีวงศ์ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนและธุรกิจคาร์บอนต่ำมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้มีความสอดคล้องกับการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกให้ต่ำกว่ำ 1.5-2 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมาย “ความตกลงปารีส” หรือ “Paris Agreement” ที่ทุกประเทศจะมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในวันนี้ จะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่องค์กรผู้นำที่จะขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยต่อไป

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ กฟผ. เสนอรายงานเข้าร่วมโครงการ และ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติภายใต้โครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในระดับดาวรุ่ง ถือเป็นกำลังใจและเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ กฟผ. มุ่งมั่นดำเนินการให้องค์การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้สำเร็จ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ซึ่งเป้าหมายในระยะแรก กฟผ. จะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573

โดยมีแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกจากการเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดเชื้อเพลิง เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตทั้งหมด สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และมีแผนเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการปลูกป่า โดยได้ดำเนินการดูแลรักษาพื้นที่ป่าไปแล้วเกือบ 5 แสนไร่

ทั้งนี้  กฟผ. ยังได้นำแนวทางระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในองค์การ และอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน หรือที่เรียกว่า (CCUS: Carbon Capture, Utilization and Storage) และโครงการอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่าจะเป็นแนวทางนำพา กฟผ. ไปสู่องค์การคาร์บอนต่ำและยั่งยืนภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL : กฟผ. เป็นของทุกคน เพื่อทุกคน